ข้อพิจารณาสำหรับผู้ขายสินค้าออนไลน์

ปรับปรุงล่าสุด ปรับปรุงล่าสุด9 กุมภาพันธ์ 2022

ปัจจุบัน การใช้งานอินเทอร์เน็ตเข้ามามีบทบาทสำคัญในการใช้ประโยชน์ทางการค้าหรือทางธุรกิจ เช่น การใช้ระบบประมวลผลผ่านอินเทอร์เน็ต (Cloud Computing) ในการทำงานเพื่อเพิ่มความคล่องตัวและรวดเร็วในการทำงาน การใช้ระบบประมวลผลข้อมูลจากหลายแหล่งที่มา การใช้แอปพลิเคชันสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ในการประชาสัมพันธ์ โฆษณา ติดต่อประสานงานระหว่างธุรกิจกับลูกค้า/ผู้ใช้บริการ รวมถึงการใช้เว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันต่างๆ ในการนำเสนอ และขายสินค้า /บริการ อย่างไรก็ดี มักปรากฏว่ามีประเด็นปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในด้านต่างๆ ให้พบเห็นอยู่บ่อยครั้ง เช่น

  • ปัญหาการซื้อขายสินค้า/บริการออนไลน์ผ่านเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน เช่น การที่ผู้ซื้อได้รับสินค้า/บริการไม่ตรงตามที่แสดงไว้ในเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน ผู้ซื้อสั่งสินค้า/บริการแล้วไม่ยอมชำระเงิน
  • การแสดงความคิดเห็น หรือเผยแพร่เนื้อหาที่ผิดกฎหมาย เช่น การหมิ่นประมาท การนำเข้าข้อมูลเท็จ ทำให้บุคคลอื่นเสียหาย

การขายสินค้า/บริการออนไลน์

การขายสินค้า/บริการออนไลน์ คือ การที่ผู้ขายหรือผู้ให้บริการ โฆษณา นำเสนอ รวมถึง การเสนอขายสินค้า หรือบริการผ่านช่องทางออนไลน์ (เช่น เว็บไซต์ แอปพลิเคชัน) ซึ่งกำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในปัจจุบัน ไม่ว่ากรณีใดกรณีหนึ่ง ดังต่อไปนี้

  • การขายสินค้า/บริการออนไลน์โดยตรง (Direct Market) คือ การโพสต์ขายสินค้า/บริการผ่านแอปพลิเคชันประเภทสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ด้วยบัญชีผู้ใช้ของผู้ขายเอง (เช่น แอปพลิเคชัน Facebook แอปพลิเคชัน Instagram) หรือการขายสินค้า/บริการผ่านเว็บไซต์ของผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการเองโดยตรง
  • การขายสินค้า/บริการออนไลน์ผ่านตลาดกลางซื้อขายสินค้า (e-Marketplace) คือ การเสนอขายสินค้า/บริการผ่าน เว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันที่ให้บริการตลาดกลางซื้อขายสินค้า เช่น แอปพลิเคชัน Shopee แอปพลิเคชัน Lazada เว็บไซต์ Tarad.com หรือเว็บไซต์ Pantipmarket.com

(1) ความผูกพันของสัญญา

ผู้ขายสินค้าหรือบริการออนไลน์บางส่วนอาจมีข้อกังวลว่า หากมีการตกลงซื้อขายสินค้าหรือบริการออนไลน์แล้ว ข้อตกลงหรือข้อสัญญาต่างๆ ที่ได้ตกลงกันระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย หรือผู้รับบริการกับผู้ให้บริการนั้นจะสามารถบังคับใช้ได้และมีผลผูกพันคู่สัญญา หรือไม่

ในกรณีเช่นนี้ การตกลงซื้อขายสินค้าหรือบริการออนไลน์ ไม่ว่าผ่านการใช้งานเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน และไม่ว่าการซื้อขายสินค้าหรือบริการในรูปแบบการขายสินค้า/บริการออนไลน์โดยตรง (Direct Market) หรือการขายสินค้า/บริการออนไลน์ผ่านตลาดกลางซื้อขายสินค้า (e-Marketplace) ย่อมผูกพันคู่สัญญาต่างๆ ตามเงื่อนไขที่คู่สัญญาได้ตกลงกันในเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันนั้นๆ

อย่างไรก็ดี ผู้ขายสินค้าหรือบริการออนไลน์อาจศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับลักษณะ เงื่อนไข ความผูกพัน และข้อจำกัดของสัญญาที่จัดทำขึ้นในรูปแบบ วิธี และ/หรือในระบบอิเล็กทรอนิกส์ ได้ที่ คู่มือทางกฎหมาย: การลงนามสัญญาด้วยวิธีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Signature) ต้องทำอย่างไร และคู่มือทางกฎหมาย: การจัดทำสัญญาและลงนามออนไลน์ (e-Contract) จะมีผลผูกพัน หรือไม่ อย่างไร

(2) หน้าที่ตามสัญญาซื้อขาย/บริการ

ตามที่ได้อธิบายไว้ในข้อ (1) เมื่อข้อตกลงหรือสัญญาซื้อขายสินค้าหรือบริการได้ถูกจัดทำขึ้นสมบูรณ์ในรูปแบบ วิธี และ/หรือในระบบอิเล็กทรอนิกส์ คู่สัญญา (เช่น ผู้ซื้อกับผู้ขาย หรือผู้รับบริการกับผู้ให้บริการ) ต่างก็ย่อมมีหน้าที่ตามสัญญาที่คู่สัญญาได้โฆษณา นำเสนอ เจรจา และตกลงกันไว้ เช่น

  • ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการย่อมมีหน้าที่ต้องชำระค่าสินค้าหรือบริการตามอัตราราคา จำนวน รูปแบบ วิธีการ และกำหนดระยะเวลาที่คู่สัญญาตกลงกัน
  • ผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการย่อมมีหน้าที่ส่งมอบหรือนำส่งสินค้าหรือบริการตามประเภท จำนวน และคุณสมบัติตามที่คู่สัญญาตกลงกัน
  • ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการย่อมมีหน้าที่ต้องรับมอบสินค้าหรือบริการตามวิธีการ สถานที่ และช่วงเวลาที่คู่สัญญาตกลงกัน
  • ผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการย่อมมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามคำรับประกันสินค้าหรือคำรับรองในการให้บริการที่ผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการได้มีการนำเสนอหรือโฆษณาไว้

ผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการที่เป็นเจ้าของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันสามารถกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับการซื้อขายสินค้าหรือการให้บริการแบบทั่วไป (เช่น นโยบายการชำระเงิน นโยบายการส่งสินค้า นโยบายการคืนเงิน นโยบายการรับประกันสินค้า) ได้ในข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้เว็บไซต์/แอปพลิเคชัน

(3) ผู้ซื้อได้รับสินค้า/บริการไม่ตรงตามที่แสดงไว้ในเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ปัญหาในกรณีที่ผู้ซื้อได้รับสินค้า/บริการไม่ตรงตามที่แสดงไว้ในเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันมักเป็นปัญหาที่พบได้ทั่วไป และเป็นปัญหาหลักในการขายสินค้าหรือบริการออนไลน์ เช่น

  • ผู้ซื้อสินค้าได้รับสินค้าไม่ครบตามจำนวนที่สั่งซื้อ
  • ผู้ซื้อสินค้าได้รับสินค้าที่มีคุณสมบัติไม่ตรงตามที่ปรากฏในเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน
  • ผู้ซื้อสินค้าได้รับสินค้าล่าช้าอันเนื่องมาจากการจัดส่ง และการขนส่งของผู้ขนส่งภาย
  • ผู้รับบริการได้รับบริการที่ไม่ครบถ้วน ไม่ตรงตามขอบเขตที่ตกลงกัน

ในกรณีปัญหาต่างๆ เหล่านี้ล้วนมีสาเหตุของปัญหาที่แตกต่างกัน ไม่ว่าในกรณีใดๆ ผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการควรให้ความสำคัญในการตรวจสอบหาสาเหตุของปัญหาและดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาเหล่านี้ทั้งสิ้น โดยอาจแบ่งสาเหตุของปัญหาเหล่านี้ออกได้ ดังต่อไปนี้

กรณีสาเหตุเกิดจากผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการเอง

ในกรณีที่สาเหตุของปัญหาเกิดจากตัวผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการเอง เช่น ผู้ขายสินค้าจัดเตรียมสินค้าที่จะจัดส่งขาดจำนวน ผิดชนิดของสินค้า หรือผู้ขายสินค้าดำเนินการจัดส่งสินค้าให้ผู้ขนส่งภายนอกล่าช้า

ในกรณีเช่นนี้ ผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการควรให้ความสำคัญที่สุดและควรรีบดำเนินการแก้ไขโดยเร็วที่สุด เนื่องจากเป็นความผิดพลาดของผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการเองซึ่งถือว่าผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการปฏิบัติผิดสัญญา

นอกจากนี้ ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการย่อมมีสิทธิเรียกร้องเอาผิดกับผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการกับหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคได้อีกด้วย ซึ่งอาจก่อให้เกิดหน้าที่และความรับผิดชอบเพิ่มเติมแก่ผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการ

กรณีสาเหตุเกิดจากผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ

ในกรณีที่สาเหตุของปัญหาเกิดจากผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ เช่น ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการกดสั่งสินค้า/บริการผิดชนิด หรือจำนวนที่ผิดลพาด ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการเข้าใจผิดเกี่ยวกับคุณสมบัติของสินค้า/บริการนั้นๆ

ในกรณีเช่นนี้ ผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการควรให้ความช่วยเหลือ และให้คำแนะนำแก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวนั้น อย่างไรก็ดี เนื่องจากปัญหาดังกล่าวไม่ได้เกิดจากตัวผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการเอง ดังนั้น หากการช่วยเหลือดังกล่าวมีต้นทุนค่าใช้จ่าย (เช่น ค่าขนส่งการเปลี่ยนสินค้าใหม่) ผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการอาจพิจารณาเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการตามความเป็นจริง

นอกจากนี้ ผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการอาจพิจารณาแนวทางป้องกันปัญหาดังกล่าวเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำอีก เช่น การเขียนคำอธิบายที่ชัดเจนถึงคุณสมบัติ ชนิด ประเภท จำนวนหน่วยต่อราคาของสินค้า การแสดงคำเตือน หรือข้อควรระวังในการใช้งานสินค้านั้นๆ

กรณีสาเหตุเกิดจากบุคคลภายนอกหรือปัจจัยภายนอก

ในกรณีที่สาเหตุของปัญหาเกิดจากบุคคลภายนอก เช่น ผู้ขนส่งที่ให้บริการนำส่งสินค้าล่าช้าเนื่องจากมีผู้ใช้บริการเป็นจำนวนมาก ผู้ขนส่งที่ให้บริการนำส่งสินค้าไม่สามารถนำส่งสินค้าได้ภายในกำหนดระยะเวลาเนื่องจากเกิดภัยพิบัติ หรือโรคระบาดในพื้นที่นำส่ง

ในกรณีเช่นนี้ ผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการ หากทราบ ควรแจ้งให้ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการทราบล่วงหน้าก่อนเพื่อเป็นข้อพิจารณาในการตัดสินใจซื้อสินค้าหรือบริการดังกล่าว

ผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการควรกำหนดและแสดงรายละเอียดเงื่อนไขเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการที่ชัดเจนและครบถ้วน เช่น หน่วยการขาย ราคาต่อหน่วย รายละเอียดคุณสมบัติสินค้า รวมถึงกำหนดระยะเวลาการดำเนินการต่างๆ (เช่น ระยะเวลาจัดเตรียมสินค้า/บริการ ระยะเวลาการจัดส่ง หรือระยะเวลาคืน/เปลี่ยนสินค้า)

(4) ผู้ซื้อสั่งสินค้า/บริการแล้วไม่ยอมชำระเงิน

ตามที่ได้อธิบายไว้ในข้อ (1) เมื่อข้อตกลงหรือสัญญาซื้อขายสินค้าหรือบริการได้ถูกจัดทำขึ้นสมบูรณ์ในรูปแบบ วิธี และ/หรือในระบบอิเล็กทรอนิกส์ คู่สัญญา (เช่น ผู้ซื้อกับผู้ขาย หรือผู้รับบริการกับผู้ให้บริการ) ต่างก็ย่อมมีหน้าที่ตามสัญญาซึ่งหนึ่งในหน้าที่ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ คือ การชำระค่าสินค้าหรือบริการตามราคา จำนวน รูปแบบ วิธีการ และกำหนดระยะเวลาที่คู่สัญญาตกลงกัน

ดังนั้น หากผู้ซื้อสั่งสินค้า/บริการแล้วไม่ยอมชำระเงินย่อมถือได้ว่าผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการปฏิบัติผิดสัญญา ผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการอาจพิจารณาดำเนินการต่างๆ ดังต่อไปนี้

  • บอกกล่าว ติดตาม บังคับ ทวงถามให้ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการชำระเงินให้ถูกต้องและครบถ้วนตามที่คู่สัญญาตกลงกัน
  • เรียกร้องค่าปรับตามที่ตกลงกันในสัญญา (ถ้ามี)
  • เรียกร้องค่าเสียหายต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการที่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการปฏิบัติผิดสัญญา (ถ้ามี)
  • บอกเลิกสัญญาซื้อขายหรือสัญญาบริการแล้วแต่กรณี
  • ดำเนินการอื่นๆ ตามที่กำหนดไว้ในสัญญา (ถ้ามี)

ในกรณีที่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการนำส่งหลักฐานการชำระเงินปลอม หรือหลักฐานการโอนเงินปลอม นอกจากจะเป็นการปฏิบัติผิดสัญญาแล้ว ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการยังอาจมีความผิดทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญาอีกด้วย (เช่น ความผิดฐานฉ้อโกง ความผิดฐานปลอมเอกสาร)

(5) การจัดทำสัญญาโดยเฉพาะเจาะจง

แม้ว่าผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการที่เป็นเจ้าของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันสามารถกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับการซื้อขายสินค้าหรือการให้บริการแบบทั่วไปได้ในข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้เว็บไซต์/แอปพลิเคชันได้ แต่ในกรณีที่ผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการไม่ได้มีเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันในการขายสินค้าหรือบริการเป็นของตนเอง หรือในกรณีที่การซื้อขายสินค้าหรือบริการมีความสำคัญ มีมูลค่าการซื้อขายสูงมาก หรือมีการตกลงที่เป็นการเฉพาะเจาะจงระหว่างคู่สัญญา (เช่น สินค้าสั่งผลิตพิเศษเฉพาะราย สั่งสินค้าปริมาณมาก สินค้าราคาพิเศษ ระยะเวลาจัดเตรียมและจัดส่งสินค้านานกว่าปกติ)

ในกรณีเช่นนี้ ผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการอาจพิจารณาจัดทำสัญญา สัญญาซื้อขายสินค้า หรือสัญญาบริการ แล้วแต่กรณี แยกเฉพาะสำหรับผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการแต่ละราย เพื่อกำหนดข้อตกลงและเงื่อนไขพิเศษเฉพาะลูกค้าแต่ละรายโดยละเอียดได้

ผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการอาจพิจารณาจัดทำสัญญาขึ้นในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์เพื่อความสะดวกและรวดเร็ว โดยผู้ใช้งานสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการจัดทำสัญญารูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ที่ คู่มือทางกฎหมาย: การลงนามสัญญาด้วยวิธีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Signature) ต้องทำอย่างไร และคู่มือทางกฎหมาย: การจัดทำสัญญาและลงนามออนไลน์ (e-Contract) จะมีผลผูกพัน หรือไม่ อย่างไร

(6) ผู้ซื้อสินค้า/บริการรีวิวแย่

อีกหนึ่งปัญหาที่ผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการมักพบเจอและเป็นที่กังวลของผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการ คือ การที่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการมีข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะที่ไม่ดีต่อสินค้า บริการ หรือร้านค้า/กิจการของผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการ เช่น

  • การแสดงความคิดเห็น (Comment) ด้านลบเกี่ยวกับสินค้า บริการ หรือร้านค้า/กิจการ
  • การให้ความคิดเห็น (Review) ด้านลบเกี่ยวกับสินค้า บริการ หรือร้านค้า/กิจการ
  • การให้คะแนน (Rating) ที่ไม่ดีกับสินค้า บริการ หรือร้านค้า/กิจการ

กรณีเหล่านี้ล้วนไม่เป็นที่ประสงค์ของผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการทั้งสิ้น เนื่องจากย่อมก่อให้เกิดความเสียหายในด้านชื่อเสียงของสินค้า บริการ หรือร้านค้า/กิจการของผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการโดยตรง ซึ่งหากข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะที่ไม่ดีต่อสินค้า บริการ หรือร้านค้า/กิจการดังกล่าวก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการ ผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการก็ย่อมอาจฟ้องร้องดำเนินคดีกับผู้ที่แสดงข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะที่ไม่ดีดังกล่าวนั้นในความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา

อย่างไรก็ดี ผู้ที่แสดงข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะที่ไม่ดีดังกล่าวนั้นอาจไม่มีความผิดหรือไม่ต้องรับโทษ ในกรณีดังต่อไปนี้

  • ผู้ที่แสดงข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะพิสูจน์ได้ว่าข้อความที่หมิ่นประมาทนั้นเป็นความจริง เช่น สินค้า/บริการไม่ดีจริงๆ
  • ผู้ที่แสดงข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะได้แสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริต

(ก) เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตน หรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม
(ข) ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติการตามหน้าที่
(ข) ติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ หรือ
(ง) ในการแจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรมเรื่องการดำเนินการอันเปิดเผยในศาลหรือในการประชุม

ผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการควรให้ความสำคัญและรีบดำเนินการแก้ไขข้อบกพร่องของสินค้า หรือบริการ รวมถึงตัวผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการที่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการมีข้อคิดเห็นหรือการรีวิวที่ไม่ดีนั้นๆ อย่างไรก็ดี หากข้อคิดเห็นหรือการรีวิวนั้นไม่เป็นความจริงและก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการ ผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการก็ควรดำเนินการตามเขตขอบของกฎหมายเพื่อปกป้องสิทธิของตน (เช่น ฟ้องร้องดำเนินคดีหมิ่นประมาท)

(7) ข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ซื้อสินค้า/บริการ

ในการขายสินค้าหรือการให้บริการออนไลน์ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการจะไม่มีการเก็บ รวบรวม และใช้ข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้งาน เช่น

  • ชื่อ นามสกุลของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ
  • ที่อยู่ในการจัดส่งสินค้าหรือส่งมอบบริการ
  • ที่อยู่ในการออกใบกำกับภาษี (ถ้ามี)
  • เบอร์โทรศัพท์ติดต่อ

โดยข้อมูลเหล่านี้ถือเป็นข้อมูลส่วนบุคคลตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการจึงมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกฎมายดังกล่าวอย่างเคร่งครัด เช่น

  • ผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการต้องใช้ข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการเฉพาะขอบเขตและเพื่อวัตถุประสงค์ในการขายสินค้าหรือให้บริการดังกล่าว เท่านั้น
  • ในกรณีที่ผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการจะใช้ข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการเพื่อวัตถุประสงค์อื่นนอกเหนือจากการขายสินค้าหรือให้บริการดังกล่าว ผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการจะต้องแจ้งให้เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลทราบและได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลก่อน

ผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการที่เป็นเจ้าของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันอาจจัดทำนโยบายความเป็นส่วนตัวของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน เพื่อกำหนดขอบเขต เงื่อนไข และวัตถุประสงค์ในการเก็บ รวบรวม และใช้ข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการเป็นการทั่วไปได้

(8) กล่องสุ่ม

อีกข้อพิจารณาที่ผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการอาจมีข้อกังวลก็ คือการจัดรายการกล่องสุ่ม (Mystery Box หรือ Lucky Box) เพื่อเป็นกลยุทธ์ส่งเสริมการขายและการร่วมสนุกของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ เนื่องจากได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก

อย่างไรก็ดี เนื่องจากการจัดรายการกล่องสุ่มมีความคล้ายและมีความใกล้เคียงกับการเสี่ยงโชคและการพนันอย่างมาก ดังนั้น ในการจัดรายการสินค้ากล่องสุ่ม ผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการจึงอาจมีข้อพิจารณาเป็นพิเศษ ดังต่อไปนี้

  • ในกรณีที่การจัดรายการสินค้ากล่องสุ่มจัดให้มีการแถมพกหรือรางวัลด้วยการเสี่ยงโชค (เช่น ลุ้นสินค้า หรือรางวัลมูลค่าสูงๆ) ในกรณีเช่นนี้ ผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการจะต้องได้รับอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามพระราชบัญญัติการพนันด้วย
  • ในกรณีที่การจัดรายการสินค้ากล่องสุ่มจัดโดยการคละชนิด แบบ และ/หรือประเภทของสินค้า ในกรณีเช่นนี้ ผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการอาจไม่จำเป็นต้องได้รับอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามพระราชบัญญัติการพนัน อย่างไรก็ดี ผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการก็ควรระบุรายละเอียดของชนิด แบบ และ/หรือประเภทของสินค้าให้ชัดเจนเท่าที่ระบุได้เพื่อหลีกเลี่ยงข้อพิพาทหรือปัญหากับผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการในภายหลัง รวมถึง มูลค่ารวมของสินค้าในกล่องสุ่มก็ควรจะเท่ากับหรือไม่น้อยกว่าราคาขายกล่องสุ่มดังกล่าวนั้น เนื่องจากหากมีบางกล่องที่มีสินค้ามูลค่าน้อยกว่าราคาขายและบางกล่องที่มีสินค้ามูลค่าสูงกว่าราคา อาจถูกพิจารณาว่าเป็นการเสี่ยงโชคซึ่งต้องได้รับอนุญาตก่อนเช่นเดียวกับในกรณีแรกก็ได้

ผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการควรตรวจสอบการจัดรายการกล่องสุ่มของตนว่าเป็นการจัดรายการในลักษณะใด และหากเป็นการจัดรายการที่มีความจำเป็นต้องดำเนินการตามกฎหมาย ผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการก็ควรดำเนินการต่างๆ ให้สอดคล้องตามกฎหมายนั้นๆ (เช่น การขออนุญาตกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง) เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากความรับผิด/โทษทางกฎหมายดังกล่าว

(9) หน้าที่ตามกฎหมายอื่นๆ

นอกจากหน้าที่ในการปฏิบัติตามสัญญาแล้ว ผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการยังอาจมีหน้าที่อื่นๆ ในการขายสินค้าหรือบริการออนไลน์ที่ต้องพิจารณา ดังต่อไปนี้

การจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

ในกรณีที่มีการเสนอขายสินค้าหรือบริการบนเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน (e-Commerce) หรือการใช้เว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันเป็นตลาดแลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้าของสมาชิก (e-Marketplace) หรือการให้บริการอื่นตามที่กำหนดในประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง ให้ผู้ประกอบพาณิชยกิจต้องจดทะเบียนพาณิชย์ ผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการนั้นจะต้องดำเนินการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์กับหน่วยงานที่ประกาศกำหนด

การขออนุญาตธุรกิจตลาดแบบตรง

ในกรณีที่มีการนำเสนอสินค้าหรือบริการโดยตรงถึงผู้บริโภคผ่านเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันนั้น ผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการจะต้องจดทะเบียนขออนุญาตธุรกิจตลาดแบบตรง (Direct Market License) กับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคตามพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรงอีกด้วย

ผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการควรแน่ใจว่าได้ดำเนินการต่างๆ ตามกฎหมายดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อยเพื่อเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากความรับผิด/โทษทางกฎหมายดังกล่าว

สรุป

แม้การขายสินค้าหรือบริการออนไลน์ผ่านเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันจะมีข้อพิจารณา รวมถึงหน้าที่ต่างๆ เพิ่มเติมนอกเหนือจากการขายสินค้าหรือบริการแบบปกติหน้าร้านทั่วไป แต่การขายสินค้าหรือบริการออนไลน์ผ่านเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันก็ยังได้รับความนิยมเป็นอย่างสูงและอย่างต่อเนื่องจากผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการ ทั้งนี้ เนื่องจากผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการสามารถลดต้นทุนค่าเช่าจากทำเลหน้าร้านได้เป็นจำนวนมาก ในขณะที่ผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการสามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้ทั่วประเทศหรืออาจจะทั่วโลก โดยไม่จำกัดอยู่เพียงสถานที่หรือทำเลใดทำเลหนึ่งเท่านั้นเหมือนกับการขายสินค้าหรือบริการแบบปกติหน้าร้านทั่วไป

แบบฟอร์มและตัวอย่างต่าง ๆ ที่สามารถดาวน์โหลดได้ในรูปแบบ Word และ PDF

ให้คะแนนคู่มือฉบับนี้