การลงนามสัญญาด้วยวิธีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Signature) ต้องทำอย่างไร

ปรับปรุงล่าสุด ปรับปรุงล่าสุด6 กรกฎาคม 2021
คะแนน คะแนน 4.7 - 6 คะแนนโหวต

ปัจจุบัน เทคโนโลยีทางอิเล็กทรอนิกส์มีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้ใช้งาน ไม่ว่าจะเป็น ผู้ประกอบการ หรือผู้บริโภค สามารถใช้งาน ดำเนินกิจกรรม รวมถึงการทำธุรกรรมต่างๆ ทางอิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และมั่นคงปลอดภัยมากขึ้นผ่านอุปกรณ์เครื่องมือสื่อสารส่วนบุคคลของตน เช่น โทรศัพท์เคลื่อนที่ สมาร์ตโฟน แท็บเล็ต หรือคอมพิวเตอร์ ด้วยเหตุเดียวกันนี้ทำให้ การประกอบธุรกิจทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) มีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่องและอย่างก้าวกระโดด เช่น การซื้อขายสินค้าออนไลน์ การกู้ยืมเงินผ่านแอปพลิเคชัน หรือการจ้างทำงานออนไลน์ (Freelance) การทำธุรกรรมทางการเงินผ่านแอปพลิเคชัน

ในการทำธุรกรรมที่เหล่านี้ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องมีสัญญาที่เกี่ยวข้องเพื่อก่อให้เกิดสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดของคู่สัญญา รวมถึงการลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้สัญญาที่เกี่ยวข้องมีผลผูกพันคู่สัญญา และสามารถใช้บังคับกันได้ในกรณีที่มีคู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งปฏิบัติผิดสัญญา เช่น ผู้ขายส่งสินค้าไม่ตรงตามที่ตกลงหรือโฆษณาไว้ ผู้ซื้อไม่ได้รับสินค้า ผู้ขายไม่ได้รับชำระเงินจากผู้ซื้อ หรือเพื่อให้เอกสารสำคัญมีผลบังคับใช้ เช่น การลงนามอนุมัติงบประมาณ การลงนามอนุมัติฝาก-ถอนเงิน

ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ (e-Signature) คืออะไร

ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ (e-Signature) คือ อักษร อักขระ ตัวเลข เสียง หรือสัญลักษณ์ที่สร้างขึ้นในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งนำมาใช้ประกอบกับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ เช่น สัญญาอิเล็กทรอนิกส์ (e-Contract) หรือข้อตกลงอิเล็กทรอนิกส์ (e-Agreement) ซึ่งสามารถแสดงความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลผู้เป็นเจ้าของลายมือชื่อกับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ และสามารถระบุตัวบุคคลผู้เป็นเจ้าของลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ เพื่อแสดงว่าบุคคลดังกล่าวยอมรับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นั้น เช่น

  • การพิมพ์หรือลงชื่อท้ายอีเมล
  • ภาพถ่าย/ภาพสแกนของลายมือชื่อที่ลงนามในกระดาษ
  • การลงลายมือชื่อในแท็บเล็ตโดยใช้ปากกา Stylus ปากกา Apple Pencil หรือนิ้วมือ
  • การลงลายมือชื่อดิจิทัล (Digital Signature) ผ่านระบบและมาตรการยืนยันตัวตน

ทำไมต้องใช้ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์

เนื่องจากการลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ (e-Signature) เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ทำให้มีความรวดเร็ว สามารถส่งข้อมูลถึงกันได้แม้คู่สัญญาจะอยู่ห่างไกลกัน ไม่ว่าภายในประเทศ หรือระหว่างประเทศ ทำให้การลงนามไม่ว่าจะเป็นเอกสารสัญญา หรือหนังสือสำคัญต่างๆ สามารถจัดทำ และลงนามให้มีผลผูกพันกันได้ภายในเสี้ยววินาที ดังนั้น การลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ (e-Signature) จึงก่อให้เกิดความสะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพในการลงนามสัญญา หรือหนังสือสำคัญต่างๆ โดยเฉพาะในกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วน เช่น คู่สัญญาต้องการจัดทำสัญญาซื้อขายวัตถุดิบเร่งด่วนเนื่องจากมีคำสั่งซื้อพิเศษจำนวนมาก แต่ผู้มีอำนาจเข้าทำสัญญาดังกล่าว (เช่น กรรมการผู้จัดการ หุ้นส่วนผู้จัดการ หรือผู้จัดการร้าน) ไปประชุมที่ต่างประเทศไม่สามารถลงนามสัญญาซื้อขายได้ทันที ในกรณีเช่นนี้ ผู้มีอำนาจเข้าทำสัญญาดังกล่าวอาจลงนามในสัญญาซื้อขายวัตถุดิบ โดยใช้ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ (e-Signature) ผ่านอุปกรณ์เครื่องมือสื่อสารส่วนบุคคลของตน (เช่น โทรศัพท์เคลื่อนที่ สมาร์ตโฟน แท็บเล็ต หรือคอมพิวเตอร์) เพื่อให้ธุรกิจ/กิจการสามารถมีวัตถุดิบใช้ในการผลิตสินค้าได้ทันตามคำสั่งซื้อของลูกค้า

นอกจากนี้ แม้คู่สัญญาจะสามารถจัดทำสัญญาอิเล็กทรอนิกส์ (e-Contract) หรือก่อให้เกิดสัญญาอิเล็กทรอนิกส์ (e-Contract) ผ่านอุปกรณ์เครื่องมือสื่อสารส่วนบุคคลของตนได้โดยไม่ต้องลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ (e-Signature)

ผู้ใช้งานอาจศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับการจัดทำและการเกิดขึ้นของสัญญาอิเล็กทรอนิกส์ (e-Contract) เพิ่มเติม ได้ที่ คู่มือทางกฎหมาย: การจัดทำสัญญาและลงนามออนไลน์ (e-Contract) จะมีผลผูกพัน หรือไม่ อย่างไร

อย่างไรก็ดี ในบางกรณีที่กฎหมายกำหนดให้ธุรกรรมหรือสัญญาใดต้องมีการลงลายมือชื่อจึงจะมีผลสมบูรณ์ คู่สัญญาอาจจะจำเป็นต้องดำเนินการลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ (e-Signature) ด้วย เช่น

ประเภทของลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์

ตามวิธี หลักเกณฑ์ และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ อาจแบ่งประเภทของลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ (e-Signature) ได้เป็น 3 ประเภท ดังต่อไปนี้

(ก) ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ทั่วไป

ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ทั่วไป กฎหมายกำหนดให้ต้องมีลักษณะ ดังต่อไปนี้

  • ข้อความอักษร อักขระ ตัวเลข เสียง หรือสัญลักษณ์ที่สามารถระบุหรือเชื่อมโยงตัวบุคคลผู้เป็นเจ้าของลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้
  • สามารถแสดงเจตนาของเจ้าของลายมือชื่อได้ และ
  • วิธีการที่ใช้เหมาะสมกับพฤติการณ์ของธุรกรรม (เช่น ประเภทของธุรกรรม มูลค่า ประเพณีปฏิบัติ ความน่าเชื่อถือ และความปลอดภัยของวิธีการ ระบบการติดต่อสื่อสาร)

จากลักษณะของลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ทั่วไปที่อธิบายข้างต้น มีขอบเขตที่กว้างมาก จึงเป็นลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ (e-Signature) ที่ใช้กันมากที่สุด หรืออาจกล่าวได้ว่า ผู้ใช้งานบางคนอาจยังไม่ทราบว่าการกระทำที่ใช้อยู่ปัจจุบันของตนนั้นคือการลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ (e-Signature)

โดยวิธีการลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ทั่วไปนั้นมีวิธีการที่กว้างและหลากหลายมาก เนื่องจากกฎหมายกำหนดลักษณะไว้อย่างกว้าง หากลายมือชื่อนั้นสามารถระบุหรือเชื่อมโยงตัวบุคคลผู้เป็นเจ้าของลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ สามารถแสดงเจตนาของเจ้าของลายมือชื่อได้ และเป็นวิธีการที่เหมาะสมกับพฤติการณ์ของธุรกรรมที่ทำนั้น ก็ย่อมถือว่าลายมือชื่อนั้นเป็นลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ทั่วไป โดย ตัวอย่างการลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ทั่วไป เช่น

  • การพิมพ์หรือลงชื่อท้ายอีเมล (e-Mail Signature)
  • ภาพถ่าย/ภาพสแกนของลายมือชื่อที่ลงนามในกระดาษ
  • การลงลายมือชื่อในแท็บเล็ตโดยใช้ปากกา Stylus ปากกา Apple Pencil หรือนิ้วมือ
  • การกด "ตกลง" หรือ "ยอมรับเงื่อนไข" ในเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชันต่างๆ
  • การกด "สั่งซื้อ" ในเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชันต่างๆ
  • การกดรหัสยืนยันธุรกรรม (Pin/Passcode)

เนื่องจากการลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ทั่วไปเป็นวิธีการที่สามารถทำได้ง่ายและหลากหลายทำให้เกิดการปลอมแปลงได้ง่ายเช่นเดียวกัน ทำให้ ความน่าเชื่อถือของลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ทั่วไปมีน้อยที่สุดในบรรดาลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ประเภทอื่นๆ

อย่างไรก็ดี กฎหมายก็ยังให้การรับรองลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ทั่วไปนี้ให้สามารถมีผลใช้ได้ และสามารถใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีความในศาลได้ แต่เนื่องจากมีความน่าเชื่อถือน้อย จึงมักจำเป็นต้องใช้ข้อมูล หรือพยานหลักฐานอื่นๆ ประกอบ/สนับสนุนความน่าเชื่อถือของลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ทั่วไปด้วย

พยานหลักฐานสนับสนุนความน่าเชื่อถือของลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ทั่วไป เช่น บันทึกการเข้าระบบจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (e-Mail Log) เอกสารสัญญาต้นฉบับที่มีการลงนามจริง บันทึกการเข้าระบบอุปกรณ์เครื่องมือสื่อสารของเจ้าของลายมือชื่อขณะลงนามลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์

(ข) ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่เชื่อถือได้

ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่เชื่อถือได้ กฎหมายกำหนดให้ต้องมีลักษณะ ดังต่อไปนี้

  • ข้อความอักษร อักขระ ตัวเลข เสียง หรือสัญลักษณ์ที่สามารถระบุหรือเชื่อมโยงตัวบุคคลผู้เป็นเจ้าของลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้
  • สามารถแสดงเจตนาของเจ้าของลายมือชื่อได้
  • วิธีการที่ใช้เหมาะสมกับพฤติการณ์ของธุรกรรม (เช่น ประเภทของธุรกรรม มูลค่า ประเพณีปฏิบัติ ความน่าเชื่อถือ และความปลอดภัยของวิธีการ ระบบการติดต่อสื่อสาร)
  • ลายมือชื่อที่ลงนามนั้นอยู่ภายใต้ความควบคุมของเจ้าของลายมือชื่อเพียงผู้เดียวในขณะลงนาม
  • สามารถตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงของลายมือชื่อได้ และ
  • สามารถตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงของธุรกรรมขณะและภายหลังจากที่ได้ลงลายมือชื่อได้

จากลักษณะของลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่เชื่อถือได้ จะพบว่ามีเงื่อนไขที่เพิ่มขึ้นจากลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ทั่วไป โดยลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่เชื่อถือได้ จะต้องมีระบบ หรือมาตรฐานในการลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถตรวจสอบการแก้ไขเปลี่ยนแปลงของลายมือชื่อ หรือรายละเอียดของธุรกรรม (เช่น ข้อความในสัญญา/เอกสารสำคัญที่ลงนาม) ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการปลอมแปลง หรือแก้ไขภายหลังจากที่ลงลายมือชื่อ ไม่ว่าจะเป็น ตัวลายมือชื่อ หรือรายละเอียดของธุรกรรม

ตามข้อเสนอแนะมาตรฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่จำเป็นต่อธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ว่าด้วยแนวทางการลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ ของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้มีคำแนะนำและข้อเสนอแนะให้ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่เชื่อถือได้ควรใช้เทคโนโลยีและ/หรือมาตรฐานต่างๆ โดย อาจยกตัวอย่างลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่เชื่อถือได้ เช่น

  • การลงลายมือชื่อดิจิทัล (Digital Signature) ที่ใช้เทคโนโลยีโครงสร้างพื้นฐานกุญแจสาธารณะ (Public Key Infrastructure: PKI) ผ่านระบบการพิสูจน์ตัวตนระดับ IAL2 ขึ้นไป (Identity Assurance Level: IAL2+)
  • การลงลายมือชื่อดิจิทัล (Digital Signature) ที่ใช้เทคโนโลยีโครงสร้างพื้นฐานกุญแจสาธารณะ (Public Key Infrastructure: PKI) ผ่านระบบการยืนยันตัวตนระดับ AAL2 ขึ้นไป (Authentication Assurance Level: AAL2+)

เนื่องจากการลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่เชื่อถือได้จะต้องใช้เทคโนโลยีโดยเฉพาะในการลงนาม ไม่ว่า ระบบ และมาตรฐานการพิสูจน์และยืนยันตัวตนเจ้าของลายมือชื่อ ทำให้ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่เชื่อถือได้มีความน่าเชื่อถือมากกว่าลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ทั่วไป ทั้งนี้ เนื่องจาก สามารถป้องกันและพิสูจน์การปลอมแปลงหรือแก้ไขข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ภายหลังจากที่ลงลายมือชื่อ โดยกฎหมายได้ให้การรับรองลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่เชื่อถือได้นี้ให้สามารถมีผลใช้ได้ และสามารถใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีความในศาลได้ และย่อมมีความน่าเชื่อถือและมีน้ำหนักมากกว่าลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ทั่วไป

ในการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานความน่าเชื่อถือของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ศาลจะพิจารณาถึง วิธีการที่ใช้ในการลงนาม ลักษณะหรือวิธีการเก็บรักษา ความครบถ้วน และไม่มีการเปลี่ยนแปลงของข้อความ ลักษณะ หรือวิธีการที่ใช้ในการระบุหรือแสดงตัวผู้ลงนาม ซึ่งลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่เชื่อถือได้มีลักษณะค่อนข้างครบตามที่กำหนดในข้อพิจารณาดังกล่าว

(ค) ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่เชื่อถือได้มีใบรับรอง

ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่เชื่อถือได้มีใบรับรอง คือ ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่เชื่อถือได้ตามข้อ (ข) ที่มีใบรับรอง กล่าวคือ ต้องมีลักษณะ ดังต่อไปนี้

  • ข้อความอักษร อักขระ ตัวเลข เสียง หรือสัญลักษณ์ที่สามารถระบุหรือเชื่อมโยงตัวบุคคลผู้เป็นเจ้าของลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้
  • สามารถแสดงเจตนาของเจ้าของลายมือชื่อได้
  • วิธีการที่ใช้เหมาะสมกับพฤติการณ์ของธุรกรรม (เช่น ประเภทของธุรกรรม มูลค่า ประเพณีปฏิบัติ ความน่าเชื่อถือ และความปลอดภัยของวิธีการ ระบบการติดต่อสื่อสาร)
  • ลายมือชื่อที่ลงนามนั้นอยู่ภายใต้ความควบคุมของเจ้าของลายมือชื่อเพียงผู้เดียวในขณะลงนาม
  • สามารถตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงของลายมือชื่อได้
  • สามารถตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงของธุรกรรมขณะและภายหลังจากที่ได้ลงลายมือชื่อได้ และ
  • ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์มีใบรับรองสนับสนุนการใช้ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่ออกให้โดยผู้ให้บริการออกใบรับรอง (Certificate Authority: CA)

โดย ผู้ให้บริการออกใบรับรอง (Certificate Authority: CA) คือบุคคลภายนอกที่ให้บริการออกใบรับรองลายมือชื่อดิจิทัล (Digital Signature) ตามนโยบายและมาตรฐานที่กำหนดโดยเฉพาะ โดยอาจเป็นองค์กรของรัฐ เช่น ผู้ให้บริการออกใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National Root CA) หรือโดยหน่วยงานเอกชนทั่วไป

นอกจากลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่เชื่อถือได้มีใบรับรองจะใช้เทคโนโลยีโดยเฉพาะในการลงนาม ไม่ว่า ระบบ และมาตรฐานการพิสูจน์และยืนยันตัวตนเจ้าของลายมือชื่อ ซึ่งสามารถป้องกันและพิสูจน์การปลอมแปลงหรือแก้ไขข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ภายหลังจากที่ลงลายมือชื่อได้ ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่เชื่อถือได้มีใบรับรองยังมีใบรับรองสนับสนุนการใช้ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่ออกให้โดยผู้ให้บริการออกใบรับรอง (Certificate Authority: CA) ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกที่มีความเชี่ยวชาญและมีหน้าที่ในการรับรองข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์โดยเฉพาะ ด้วยเหตุนี้ ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่เชื่อถือได้มีใบรับรอง จึงมีความน่าเชื่อถือมากที่สุดในบรรดาลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ประเภทอื่นๆ โดยกฎหมายได้ให้การรับรองลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่เชื่อถือได้มีใบรับรองนี้ให้สามารถมีผลใช้ได้ และสามารถใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีความในศาลได้ และย่อมมีความน่าเชื่อถือและมีน้ำหนักมากกว่าลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ทั่วไป และลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่เชื่อถือได้ที่ไม่มีใบรับรอง

ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่เชื่อถือได้มีใบรับรองย่อมมีน้ำหนักความน่าเชื่อถือของพยานหลักฐานมากที่สุด นอกจากในการลงลายมือชื่อจะใช้เทคโนโลยีและมาตรฐานการพิสูจน์และยืนยันตัวตนเจ้าของลายมือชื่อแล้ว ลายมือชื่อยังมีผู้ให้บริการออกใบรับรอง (Certificate Authority: CA) ให้การรับรองลายมือชื่อด้วยอีกฝ่ายหนึ่ง

สรุป

ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในปัจจุบัน ทำให้มีความมั่งคงและปลอดภัยในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น โดยกฎหมายได้รับรองให้การลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์สามารถมีผลผูกพันทางกฎหมายและสามารถบังคับใช้ได้เสมือนกับการลงนามใบแผ่นกระดาษ โดยสามารถดำเนินการได้หลากหลายวิธี ซึ่งแต่ละวิธีการก็มีความน่าเชื่อถือ และค่าใช้จ่ายที่แตกต่างกันไป ผู้ใช้งานอาจเลือกใช้รูปแบบวิธีการลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ตามความเหมาะสมในบริบทของธุรกรรมที่จะลงนามนั้นๆ โดยอาจสรุปได้ ดังตารางต่อไปนี้

 

ประเภท วิธีการ ความน่าเชื่อถือ
(ก) ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ทั่วไป

ชื่อลงท้ายอีเมล (e-Mail Signature)

ภาพถ่าย/สแกนของลายมือชื่อที่ลงนามในกระดาษ

ลายมือชื่อในแท็บเล็ตที่ลงนามโดยใช้ปากกา Stylus ปากกา Apple Pencil หรือนิ้วมือ

การกด "ตกลง" กด "ยอมรับเงื่อนไข" หรือ กด "สั่งซื้อ" ในเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชันต่างๆ

การกดรหัสยืนยันธุรกรรม (Pin/Passcode)

(ข) ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่เชื่อถือได้ ลายมือชื่อดิจิทัล (Digital Signature) ▲▲
(ค) ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่เชื่อถือได้มีใบรับรอง ลายมือชื่อดิจิทัล (Digital Signature) ที่มีใบรับรอง ▲▲▲

แบบฟอร์มและตัวอย่างต่าง ๆ ที่สามารถดาวน์โหลดได้ในรูปแบบ Word และ PDF

ให้คะแนนคู่มือฉบับนี้