การจัดทำสัญญาและลงนามออนไลน์ (e-Contract) จะมีผลผูกพัน หรือไม่ อย่างไร

ปรับปรุงล่าสุด ปรับปรุงล่าสุด26 มิถุนายน 2021
คะแนน คะแนน 4.3 - 17 คะแนนโหวต

ปัจจุบัน เทคโนโลยีทางอิเล็กทรอนิกส์มีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้ใช้งาน ไม่ว่าจะเป็น ผู้ประกอบการ หรือผู้บริโภค สามารถใช้งาน ดำเนินกิจกรรม รวมถึงการทำธุรกรรมต่างๆ ทางอิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และมั่นคงปลอดภัยมากขึ้นผ่านอุปกรณ์เครื่องมือสื่อสารส่วนบุคคลของตน เช่น โทรศัพท์เคลื่อนที่ สมาร์ตโฟน แท็บเล็ต หรือคอมพิวเตอร์ ด้วยเหตุเดียวกันนี้ทำให้ การประกอบธุรกิจทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) มีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่องและอย่างก้าวกระโดด เช่น การซื้อขายสินค้าออนไลน์ การกู้ยืมเงินผ่านแอปพลิเคชัน หรือการจ้างทำงานออนไลน์ (Freelance)

ในการทำธุรกรรมที่ยกตัวอย่างเหล่านี้ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องมีสัญญาที่เกี่ยวข้อง เพื่อก่อให้เกิดสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดของคู่สัญญา เช่น

  • ในสัญญาซื้อขายสินค้า ผู้ขายมีหน้าที่ต้องส่งมอบสินค้าตามจำนวนและคุณสมบัติตามที่โฆษณา/ตกลงกับผู้ซื้อไว้ภายในระยะเวลาที่กำหนด หรือผู้ซื้อมีหน้าที่ต้องชำระค่าสินค้าตามจำนวน ระยะเวลา วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนด
  • ในสัญญากู้ยืมเงิน ผู้ให้กู้มีหน้าที่ต้องส่งมอบเงินต้นให้แก่ผู้กู้ และผู้กู้มีหน้าที่ต้องชำระคืนเงินต้น และดอกเบี้ย ตามระยะเวลา อัตรา และเงื่อนไขที่คู่สัญญาตกลงกัน หรือ
  • ในสัญญาบริการ/สัญญาจ้างทำของ ผู้รับบริการ/ผู้ว่าจ้างจะต้องชำระค่าบริการ/ค่าจ้างให้แก่ผู้ให้บริการ/ผู้รับจ้างตามอัตรา ระยะเวลา และเงื่อนไขที่กำหนด และผู้ให้บริการ/ผู้รับจ้างมีหน้าที่จะต้องส่งมอบบริการ/งานตามขอบเขตงานภายในระยะเวลาที่กำหนด

ในกรณีที่คู่สัญญาต่างปฏิบัติตามหน้าที่ของตนตามสัญญานั้นอย่างถูกต้อง ครบถ้วน และสมบูรณ์ก็ย่อมไม่เกิดประเด็นปัญหาหรือข้อกังวลใดๆ ในทางกลับกัน ในกรณีที่คู่สัญญาไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ของตนตามสัญญานั้น ไม่ว่าจะด้วยความจงใจ (เช่น มิจฉาชีพ หลอกลวง ฉ้อโกง) หรือไม่จงใจ (เช่น ไม่ทราบ หลงลืม การทำผิดพลาดโดยไม่ได้ตั้งใจ) เช่น

  • คู่สัญญาปฏิบัติผิดสัญญา
  • ผู้ขายส่งสินค้าไม่ตรงตามที่ตกลงหรือโฆษณาไว้
  • ผู้ซื้อไม่ได้รับสินค้า
  • ผู้ขายไม่ได้รับชำระเงินจากผู้ซื้อ

ในกรณีเช่นนี้ ย่อมก่อให้เกิดประเด็นปัญหาหรือข้อกังวลแก่คู่สัญญาว่าสัญญาเหล่านี้ที่มักถูกจัดทำขึ้นโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์จะมีผลผูกพันคู่สัญญา และสามารถบังคับใช้ได้ หรือไม่ รวมถึงจะสามารถฟ้องร้องดำเนินคดีตามสัญญาลักษณะดังกล่าวได้ หรือไม่

สัญญาอิเล็กทรอนิกส์ (e-Contract) คืออะไร

สัญญาอิเล็กทรอนิกส์ (e-Contract) คือสัญญาที่ถูกจัดทำขึ้นโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือถูกจัดเก็บอยู่ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ เช่น

  • ข้อตกลงที่คู่สัญญาได้ พูดคุย เจรจา ต่อรอง ตกลงรายละเอียดและเงื่อนไขกันในบทสนทนาอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ว่าจะเป็นข้อความ ภาพ เสียง หรือภาพเคลื่อนไหว (Video) เช่น การตกลงซื้อขาย กู้ยืมเงิน หรือว่าจ้างผ่านจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (e-Mail) หรือแอปพลิเคชันสนทนาต่างๆ เช่น แอปพลิเคชัน Line แอปพลิเคชัน Facebook Messenger แอปพลิเคชัน Skype หรือ แอปพลิเคชัน Facetime จากอุปกรณ์เครื่องมือสื่อสารส่วนบุคคลของตน (เช่น โทรศัพท์เคลื่อนที่ สมาร์ตโฟน แท็บเล็ต หรือคอมพิวเตอร์)
  • เอกสารสัญญา หรือข้อตกลงลายลักษณ์อักษรที่คู่สัญญาจัดทำในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือจัดส่งให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ เช่น เอกสารสัญญาที่อยู่ในรูปแบบไฟล์ Portable Document Format (PDF) โดยอุปกรณ์เครื่องมือสื่อสารส่วนบุคคลของตน (เช่น โทรศัพท์เคลื่อนที่ สมาร์ตโฟน แท็บเล็ต หรือคอมพิวเตอร์)
  • สัญญา หรือข้อตกลงที่เกิดจากระบบคำสั่ง หรือแอปพลิเคชันที่คู่สัญญาได้กระทำการแสดงเจตนาเข้าผูกพัน เช่น การกด "ยอมรับเงื่อนไข" หรือ "ยืนยันสั่งซื้อและชำระเงิน" ในแอปพลิเคชันเพื่อทำการซื้อขาย กู้ยืมเงิน ว่าจ้าง หรือธุรกรรมต่างๆ ผ่านอุปกรณ์เครื่องมือสื่อสารส่วนบุคคลของตน เช่น โทรศัพท์เคลื่อนที่ สมาร์ตโฟน แท็บเล็ต หรือคอมพิวเตอร์

ลักษณะการจัดทำสัญญาอิเล็กทรอนิกส์

โดยทั่วไปตามหลักกฎหมายทั่วไปเกี่ยวกับการเกิดสัญญาตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ สัญญาย่อมเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีการแสดงเจตนา คำเสนอ และคำสนองของคู่สัญญาถูกต้องตรงกัน กล่าวคือ คู่สัญญาทั้ง 2 ฝ่ายต่างตกลงรับเงื่อนไขอันเป็นสาระสำคัญต่างๆ ในสัญญาของคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งได้ทั้งหมด โดยที่ไม่มีข้อต่อรอง หรือการปฏิเสธคำเสนอนั้น

ตัวอย่าง: ผู้ขาย นายสมชายต้องการขายรถยนต์ สีดำ ยี่ห้อ ABC ราคา 900,000 บาท พร้อมส่งมอบภายใน 15 วันนับจากได้รับชำระเงิน หากผู้ซื้อ นางสมศรีตกลงจะรับซื้อรถยนต์คันดังกล่าว ตามเงื่อนไขที่นายสมชายเสนอได้ทั้งหมด ก็ย่อมเกิดสัญญาซื้อขายขึ้น หากในกรณีที่ผู้ซื้อ นางสมศรี ขอต่อราคาลดเหลือ 450,000 บาท โดยตกลงยอมรับตามเงื่อนไขอื่นๆ ในกรณีเช่นนี้จะยังไม่เกิดสัญญา เนื่องจากคำสนองไม่ตรงกับคำเสนอ อย่างไรก็ดี ในกรณีเช่นนี้ ถือว่าคำสนองของผู้ซื้อ นางสมศรี เกิดเป็นคำเสนอขึ้นใหม่ หากผู้ขาย นายสมชายสนองโดยการตกลงยอมลดราคา ขายรถยนต์ให้ในราคา 450,000 บาท ก็ย่อมเกิดสัญญาซื้อขาย

อย่างไรก็ดี ในการเกิดสัญญาอิเล็กทรอนิกส์ (e-Contract) ซึ่งเป็นกรณีที่คู่สัญญาไม่ได้อยู่ต่อหน้ากัน หรืออยู่ห่างกันโดยระยะทาง และการติดต่อสื่อสารทำกันในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ กฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์จึงได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้อีกส่วนหนึ่งโดยเฉพาะ โดยอาจแบ่งพิจารณาลักษณะการทำสัญญาอิเล็กทรอนิกส์ได้ ดังต่อไปนี้

(ก) คู่สัญญาสามารถติดต่อถึงกันได้เสมือนอยู่เฉพาะหน้า

การที่คู่สัญญาสามารถติดต่อ พูดคุย หรือโต้ตอบถึงกันได้โดยทันทีเสมือนอยู่เฉพาะหน้า เช่น

    • การตกลงแสดงเจตนาทำสัญญาผ่านโทรศัพท์
    • การสนทนาด้วยการโทรภาพและเสียง (Video Call) ผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ เช่น แอปพลิเคชัน Line แอปพลิเคชัน Facebook Messenger แอปพลิเคชัน Skype หรือ แอปพลิเคชัน Facetime

(ข) คู่สัญญาติดต่อถึงกันได้โดยอยู่ห่างระยะทาง

การที่คู่สัญญาติดต่อถึงกันได้โดยอยู่ห่างระยะทาง คือ การที่คู่สัญญาสามารถติดต่อถึงกันได้ แต่ไม่ใช่วิธีการที่เสมือนอยู่เฉพาะหน้า หรือกล่าวคือคู่สัญญาไม่สามารถติดต่อ พูดคุย หรือโต้ตอบถึงกันได้โดยทันที โดยอาจจะต้องรอคู่สัญญาอีกฝ่ายมาเปิดข้อความ เช่น

    • การตกลงแสดงเจตนาทำสัญญาผ่านจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (e-Mail) หรือ
    • การพูดคุยตกลงกันผ่านข้อความในแอปพลิเคชันสนทนาต่างๆ เช่น แอปพลิเคชัน Line แอปพลิเคชัน Facebook Messenger หรือแอปพลิเคชัน Skype

(ค) คู่สัญญาติดต่อถึงกันโดยระบบอัตโนมัติ

การที่คู่สัญญาติดต่อถึงกันโดยระบบอัตโนมัติ คือการที่คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือทั้ง 2 ฝ่าย ได้แสดงเจตนาผ่านระบบอัตโนมัติ โดยที่คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือทั้ง 2 ฝ่ายอาจไม่ได้อยู่หรือรับทราบขณะที่มีการเกิดสัญญาขึ้น (เช่น การแสดงคำเสนอและคำสนองตรงกัน) เนื่องจากเป็นระบบอัตโนมัติที่คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือทั้ง 2 ฝ่าย ได้ตั้งค่าและกำหนดเงื่อนไขในการแสดงเจตนาเอาไว้ล่วงหน้าแล้ว เช่น

    • การซื้อขายสินค้าผ่านแอปพลิเคชันซื้อขายสินค้า เช่น แอปพลิเคชัน Shopee แอปพลิเคชัน Lazada
    • การซื้อขายหลักทรัพย์หรือสินทรัพย์ดิจิทัล ผ่านแอปพลิเคชันซื้อขายหลักทรัพย์หรือสินทรัพย์ดิจิทัล เช่น แอปพลิเคชัน Bitkub แอปพลิเคชัน Streaming
    • การทำธุรกรรมสัญญาอัจฉริยะ (Smart Contract) ผ่านเทคโนโลยี Blockchain

การเกิดสัญญาอิเล็กทรอนิกส์

ตามที่ได้อธิบายไว้ข้างต้นว่าสัญญาย่อมเกิดเมื่อการแสดงเจตนาของคู่สัญญาทั้ง 2 ฝ่าย ถูกต้องตรงกัน นอกจากเงื่อนไขข้อตกลงในสัญญาจะถูกต้องตรงกันแล้ว ระยะเวลาในการเกิดสัญญาอิเล็กทรอนิกส์ (e-Contract) ก็เป็นอีกข้อพิจารณาที่น่าสนใจ เนื่องจากเมื่อสัญญาเกิดขึ้นแล้ว ย่อมก่อให้เกิดสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดของคู่สัญญาตามเงื่อนไขที่คู่สัญญาได้ตกลงกันไว้ โดยสัญญาจะเกิดขึ้นเมื่อใดนั้น อาจพิจารณาได้ ดังต่อไปนี้

  • ในกรณีที่คู่สัญญาสามารถติดต่อถึงกันได้เสมือนอยู่เฉพาะหน้า สัญญาย่อมเกิดขึ้นเมื่อผู้รับการแสดงเจตนาได้ทราบถึงการแสดงเจตนานั้น (เช่น ผู้ขายได้รับทราบถึงคำสนองซื้อจากผู้ซื้อ)

ตัวอย่าง: ผู้ขายได้รับทราบ (เช่น ได้ยิน เห็น) ถึงการแสดงเจตนาของผู้ซื้อที่จะซื้อสินค้าดังกล่าวตามเงื่อนไขที่ผู้ขายได้เสนอ (เช่น การตอบตกลง การแสดงท่าทางตกลงซื้อ)

  • ในกรณีที่คู่สัญญาติดต่อถึงกันได้โดยอยู่ห่างระยะทาง หรือคู่สัญญาติดต่อถึงกันโดยระบบอัตโนมัติ สัญญาย่อมเกิดขึ้นเมื่อการแสดงเจตนาไปถึงผู้รับการแสดงเจตนา กล่าวคือ เมื่อการแสดงเจตนานั้นได้เข้าสู่ระบบข้อมูลของผู้รับการแสดงเจตนา (เช่น ผู้ขายได้รับข้อความหรือได้รับอีเมลตอบรับสั่งซื้อสินค้าจากผู้ซื้อ)

ตัวอย่าง: ผู้ซื้อส่งข้อความยืนยันตกลงซื้อและข้อความเข้าไปปรากฏในอีเมลหรือแอปพลิเคชันสนทนาของผู้ขายแล้ว โดยที่ผู้ขายอาจยังไม่ทราบถึงข้อความดังกล่าวก็ได้ (เช่น ยังไม่ได้เปิดอ่าน)

ผลของการทำสัญญาอิเล็กทรอนิกส์

กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ได้กำหนดรับรองให้การทำสัญญาในทั้ง 3 กรณี ไม่ว่าในกรณีที่คู่สัญญาสามารถติดต่อถึงกันได้เสมือนอยู่เฉพาะหน้า กรณีที่คู่สัญญาติดต่อถึงกันได้โดยอยู่ห่างระยะทาง หรือกรณีคู่สัญญาติดต่อถึงกันโดยระบบอัตโนมัติ มีผลผูกพันเหมือนกับการจัดทำสัญญาแบบดังเดิมบนแผ่นกระดาษ โดยเมื่อสัญญาเกิดขึ้นแล้วย่อมก่อให้เกิดสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดของคู่สัญญาตามเงื่อนไขที่คู่สัญญาได้แสดงเจตนาตกลงกันไว้นั้น เช่น ผู้ขายมีหน้าที่ต้องจัดส่งสินค้าภายในระยะเวลาที่กำหนด ผู้ซื้อมีหน้าที่ต้องชำระเงินค่าสินค้าตามอัตรา วิธีการและระยะเวลาที่กำหนดตกลงกัน ผู้รับบริการ/ผู้ว่าจ้างต้องชำระค่าจ้าง ผู้ให้บริการ/ผู้รับจ้างต้องเริ่มทำงานและส่งมอบงานภายในเวลาที่กำหนด

ปัจจุบันการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่เกี่ยวกับกฎหมายครอบครัวและมรดก กฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ยังไม่ได้ให้การรับรอง เนื่องจากยังไม่เหมาะสมที่ทำธุรกรรมได้ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ เช่น พินัยกรรม บันทึกข้อตกลงการหย่า สัญญาก่อนสมรส หรือหนังสือยินยอมให้คู่สมรสทำนิติกรรม

อย่างไรก็ดี เช่นเดียวกันกับสัญญาแบบดังเดิม สัญญาอิเล็กทรอนิกส์ (e-Contract) ก็ยังคงอยู่ภายใต้หลักกฎหมายทั่วไปเกี่ยวสัญญา และความสามารถของบุคคล เช่น

  • การห้ามมีข้อตกลงที่พ้นวิสัย/ที่เป็นไปไม่ได้ เช่น การตกลงซื้อขายที่ดินบนดวงจันทร์
  • การห้ามมีข้อตกลงที่ขัดต่อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน เช่น มีข้อตกลงที่ขัดต่อกฎหมายอาญา กฎหมายครองผู้บริโภค กฎหมายว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม
  • คู่สัญญาจะต้องเป็นบุคคลที่มีความสามารถในการเข้าทำสัญญาตามกฎหมายว่าด้วยความสามารถของบุคคล เช่น ผู้เยาว์อาจต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครอง

สถานที่เกิดของสัญญาอิเล็กทรอนิกส์

สถานที่เกิดของสัญญาอิเล็กทรอนิกส์ (e-Contract) เป็นอีกหนึ่งข้อพิจารณาที่สำคัญในกรณีที่มีข้อพิพาทเกิดขึ้นอันเนื่องมาจากสัญญาอิเล็กทรอนิกส์ (เช่น คู่สัญญาปฏิบัติผิดสัญญา ผู้ขายส่งสินค้าไม่ตรงตามที่ตกลงหรือโฆษณาไว้ ผู้ซื้อไม่ได้รับสินค้า ผู้ขายไม่ได้รับชำระเงินจากผู้ซื้อ) เนื่องจากจะมีผลต่อกฎหมายที่ใช้บังคับและเขตอำนาจของศาลในการพิจารณาข้อพิพาท/คดี ในกรณีที่ไม่ปรากฏชัดถึงสถานที่ทำสัญญา หรือคู่สัญญาไม่ได้ตกลงรายละเอียดเกี่ยวกับกฎหมายที่ใช้บังคับและเขตอำนาจของศาลดังกล่าวกันเอาไว้ในสัญญา

โดยทั่วไป การระงับข้อพิพาท อาจทำได้ตั้งแต่

  • คู่สัญญาเจรจาต่อรอง และทำความเข้าใจกันเอง
  • การเจรจาไกล่เกลี่ยโดยคนกลาง หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค อนุญาโตตุลาการ หรือผ่านระบบระงับข้อพิพาทออนไลน์ (Online Dispute Resolution: ODR) โดยศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท
  • การฟ้องร้องดำเนินคดีในศาล

ในกรณีที่คู่สัญญาเลือกที่จะระงับข้อพิพาทโดยการฟ้องร้องดำเนินคดีในศาล โดยที่ไม่ปรากฏชัดถึงสถานที่ทำสัญญา หรือคู่สัญญาไม่ได้ตกลงรายละเอียดเกี่ยวกับกฎหมายที่ใช้บังคับและเขตอำนาจของศาลดังกล่าวกันเอาไว้ในสัญญา ในกรณีเช่นนี้ผู้เสียหายจะต้องฟ้องต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้น ซึ่งก็คือ สถานที่เกิดของสัญญาอิเล็กทรอนิกส์ (e-Contract) โดยสัญญาย่อมเกิดในสถานที่ ขณะที่สัญญาได้เกิดขึ้นตามที่ได้อธิบายไว้ข้างต้น กล่าวคือ ณ ที่ทำการงานของผู้รับการแสดงเจตนานั้น เช่น สถานประกอบกิจการ สำนักงานใหญ่ หรือที่อยู่ประจำ

ในกรณีที่กฎหมายกำหนดให้ธุรกรรมหรือสัญญาใดต้องมีการลงลายมือชื่อจึงจะมีผลสมบูรณ์ คู่สัญญาอาจจะต้องดำเนินการลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ (e-Signature) เพิ่มเติมตามวิธี หลักเกณฑ์ และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยผู้ใช้งานอาจศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับการลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ (e-Signature) เพิ่มเติมได้ที่ คู่มือทางกฎหมาย: การลงนามสัญญาด้วยวิธีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Signature) ต้องทำอย่างไร

สรุป

จากที่ได้อธิบายข้างต้นการจัดทำสัญญาออนไลน์ หรือสัญญาอิเล็กทรอนิกส์ (e-Contract) ย่อมสามารถทำได้และมีผลผูกพันคู่สัญญาเช่นเดียวกันกับการจัดทำสัญญาบนแผ่นกระดาษแบบดั้งเดิม ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และข้อจำกัดของกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยนอกจากจะสะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพแล้ว สัญญาอิเล็กทรอนิกส์ (e-Contract) ยังมีส่วนช่วยในการลดการใช้กระดาษและหมึกพิมพ์ ค่าใช้จ่ายและกระบวนการจัดส่งเอกสารสัญญาเพื่อลงนามอีกด้วย

แบบฟอร์มและตัวอย่างต่าง ๆ ที่สามารถดาวน์โหลดได้ในรูปแบบ Word และ PDF

ให้คะแนนคู่มือฉบับนี้