ข้อควรพิจารณาสำหรับผู้ให้กู้ในการให้กู้ยืมเงิน

ปรับปรุงล่าสุด ปรับปรุงล่าสุด28 มกราคม 2021
คะแนน คะแนน 4.5 - 5 คะแนนโหวต

การกู้ยืมเงินระหว่างบุคคลทั่วไปซึ่งไม่ใช่สถาบันการเงินมีความแพร่หลายอย่างมากตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เนื่องจากไม่มีขั้นตอนหรือกระบวนการที่ยุ่งยากเช่นเดียวกับการขอกู้ยืมเงินจากสถานบันการเงิน (เช่น ธนาคารพาณิชย์) โดยการกู้ยืมเงินระหว่างบุคคลทั่วไปอาจเป็นการให้กู้ยืมเงินทางธุรกิจ (เช่น การให้คู่ค้ากู้ยืมเงิน การให้บริษัทในเครือกู้ยืมเงินเพื่อเพิ่มสภาพคล่องทางการเงิน) หรือการให้กู้ยืมแบบส่วนตัว (เช่น ให้เพื่อน ญาติ พี่ น้อง หรือคนในครอบครัวกู้ยืมเงิน) โดยหากพิจารณาจากมุมมองของผู้ให้กู้แล้ว ผู้ให้กู้อาจมีความเสี่ยงต่างๆ เช่น

  • ความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับชำระเงินที่ให้กู้ยืมคืน เนื่องจากผู้กู้ไม่มีเงินหรือไม่ยอมชำระเงินต้นและ/หรือดอกเบี้ยคืน
  • ความเสี่ยงที่จะไม่สามารถฟ้องบังคับเอาต้นและ/หรือดอกเบี้ยกับผู้กู้ได้ เนื่องจากข้อตกลงหรือวิธีการให้กู้ยืมนั้นไม่เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวกับกู้ยืมเงินซึ่งอาจทำให้ข้อตกลงนั้นเป็นโมฆะหรือบังคับใช้ไม่ได้
  • ความเสี่ยงที่จะมีความรับผิดทางอาญาหากมีข้อตกลงการกู้ยืมที่ผิดกฎหมาย เช่น การคิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด
  • ความเสี่ยงที่จะมีความรับผิดทางภาษีเพิ่มเติมในบางกรณี

โดยผู้ให้กู้อาจมีข้อพิจารณาสำคัญในการให้กู้ยืมเงิน ดังต่อไปนี้

(1) การกู้ยืมเงิน

การกู้ยืมเงิน คือ สัญญาลักษณะหนึ่งในกฎหมายลักษณะยืมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ให้กู้ซึ่งให้ยืมใช้เงินแก่อีกคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งเรียกว่าผู้กู้ โดยที่ผู้กู้ตกลงจะใช้คืนซึ่งเงินที่กู้ยืมนั้น ตามเวลาและเงื่อนไขที่กำหนดตกลงกัน โดยที่คู่สัญญาอาจตกลงให้ผู้กู้ชำระดอกเบี้ยให้แก่ผู้ให้กู้เพื่อเป็นสิ่งตอบแทนการให้กู้ยืมเงินนั้นด้วยหรือไม่ก็ได้

ในการกู้ยืมเงิน คู่สัญญาอาจเลือกใช้ตั๋วสัญญาใช้เงินแทนการจัดทำ สัญญากู้ยืมเงิน ก็ได้ อย่างไรก็ดี ตั๋วสัญญาใช้เงินจะอยู่ภายใต้บังคับกฎหมายตั๋วเงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งมีลักษณะ รูปแบบ วิธีการ เงื่อนไข ข้อดี รวมถึงข้อจำกัดที่แตกต่างกัน

(2) ความน่าเชื่อถือและสถานะทางการเงินของผู้กู้

ก่อนที่ผู้ให้กู้จะตกลงให้ผู้กู้ยืมเงิน เพื่อพิจารณาความสมควรที่จะให้ผู้กู้ยืมเงินหรือไม่ จำนวนเงินที่เหมาะสมในการให้กู้ อัตราดอกเบี้ย รวมถึงการเรียกหลักประกัน (ถ้ามี) ที่เหมาะสมกับความเสี่ยงและความสามารถในการชำระเงินคืนของผู้กู้ ผู้ให้กู้อาจพิจารณาปัจจัยต่างๆ ดังต่อไปนี้

  • รายได้ เช่น เงินเดือน รายได้ของกิจการผู้กู้
  • ความมั่นคงในรายได้ เช่น ลักษณะอาชีพการงานที่ทำ รูปแบบหรือประเภทกิจการของผู้กู้
  • ภาระค่าหนี้และใช้จ่าย เช่น หนี้สินปัจจุบันของผู้กู้ ภาระทางครอบครัว ต้นทุนการประกอบการกิจของผู้กู้
  • วัตถุประสงค์การกู้ยืม เช่น ผู้กู้นำเงินที่กู้ยืมไปใช้ทำอะไร เกิดประโยชน์หรือเกิดรายได้หรือไม่ (เช่น นำไปลงทุนขยายกิจการอันจะก่อให้เกิดการเติบโตของรายได้ หรือนำไปใช้ซื้อสินค้าฟุ่มเฟือย)
  • ประวัติการชำระหนี้ก่อนหน้า (ถ้ามี) เช่น เคยชำระหนี้ล่าช้ากว่ากำหนดชำระหรือไม่ เคยผิดนัดชำระหนี้หรือไม่ มีหนี้จำนวนอื่นที่ยังคงติดค้างผู้ให้กู้อยู่หรือไม่ หรือเคยมีประวัติหนี้เสียหรือไม่
  • หลักประกัน (ถ้ามี) เช่น มูลค่าของหลักประกันและการบังคับเอาหลักประกันแต่ละประเภท
  • พฤติกรรมอื่นๆ เช่น นิสัยส่วนตัว พฤติกรรมการใช้เงิน หรือความมีวินัย

(3) หลักฐานการกู้ยืมเงิน

เมื่อผู้ให้กู้พิจารณาถึงความน่าเชื่อถือและสถานะทางการเงินของผู้กู้และตกลงที่จะให้ผู้กู้ยืมเงินแล้ว ผู้ให้กู้ควรจัดทำเอกสารบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับเงื่อนไขการกู้ยืมเป็นลายลักษณ์อักษร (เช่น สัญญากู้ยืมเงิน) เพื่อเป็นหลักฐานการกู้ยืมเงินระหว่างคู่สัญญา อีกทั้งเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกันระหว่างผู้ให้กู้และผู้กู้ ถึงสิทธิและหน้าที่ของคู่สัญญาแต่ละฝ่าย

นอกจากนี้ กฎหมายเกี่ยวกับการกู้ยืมเงินยังกำหนดให้การกู้ยืมเงินตั้งแต่ 2,000 บาท ขึ้นไป ต้องมีหลักฐานการกู้ยืมเงินเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้กู้ด้วย ผู้ให้กู้จึงจะสามารถฟ้องร้องบังคับคดีเอากับผู้กู้ได้

เมื่อปรากฏว่าผู้ให้กู้ได้ให้ผู้กู้ยืมเงินไปโดยไม่ได้มีหลักฐานการกู้ยืมเงินเป็นลายลักษณ์อักษร และต้องการจัดให้มีหลักฐานการกู้ยืมเงินเป็นหนังสือภายหลัง ผู้ให้กู้อาจให้ผู้กู้จัดทำและลงนามใน หนังสือรับสภาพหนี้ เพื่อผู้กู้รับรองการเป็นหนี้ดังกล่าวก็ได้

(4) ความสมบูรณ์ของสัญญากู้ยืมเงิน

เนื่องจาก กฎหมายเกี่ยวกับการกู้ยืมเงินกำหนดให้สัญญาการกู้ยืมเงินจะมีผลผูกพันกันโดยบริบูรณ์ก็ต่อเมื่อผู้ให้กู้ได้ส่งมอบเงินที่กู้ยืมกันนั้นให้แก่ผู้กู้แล้ว ดังนั้น หากได้มีการส่งมอบเงินที่กู้ยืมให้แก่ผู้กู้แล้วในวันที่ทำสัญญา ก็ควรระบุไว้ในสัญญาด้วยว่าผู้กู้ได้รับเงินที่กู้ยืมไปครบถ้วนแล้ว

นอกจากนี้ ผู้ให้กู้ควรตรวจสอบให้แน่ใจด้วยว่าผู้กู้มีความสามารถทางกฎหมายอย่างสมบูรณ์ในการเข้าทำสัญญาตามหลักการทั่วไปเกี่ยวกับการทำสัญญา หรือไม่ (เช่น ผู้กู้เป็นผู้เยาว์ซึ่งยังไม่บรรนิติภาวะ คนไร้ความสามารถ คนเสมือนไร้ความสามารถ คนวิกลจริต หรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ) ซึ่งอาจมีผลต่อความสมบูรณ์และความสามารถในการบังคับใช้สัญญากู้ยืมเงินได้

ในกรณีที่ยังไม่ได้มีการส่งมอบเงินที่กู้ยืมดังกล่าวให้แก่ผู้กู้ เมื่อมีการส่งมอบเงินดังกล่าวในภายหลัง ผู้ให้กู้ก็ควรให้ผู้กู้จัดทำ ใบสำคัญรับเงิน เพื่อเป็นหลักฐานว่าผู้กู้ได้รับเงินที่กู้ยืมนั้นไปแล้ว จำนวนเท่าใด เมื่อใด และโดยวิธีใด

(5) อัตราดอกเบี้ย

ดอกเบี้ย เป็นค่าตอบแทนที่ผู้ให้กู้ย่อมประสงค์จะได้รับจากการให้กู้ยืมเงินนั้น โดยเฉพาะการกู้ยืมเงินทางธุรกิจ อย่างไรก็ดี กฎหมายเกี่ยวกับการกู้ยืมเงินกำหนดห้ามไม่ให้ผู้ให้กู้คิดดอกเบี้ยจากผู้กู้เกินกว่าอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของจำนวนเงินที่กู้ยืมกันนั้น โดยในกรณีที่ คู่สัญญามีการตกลงให้คิดดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กำหนด นอกจากข้อตกลงนั้นจะเป็นโมฆะแล้ว (ผู้ให้กู้ไม่สามารถเรียกดอกเบี้ยจากผู้กู้ได้ โดยผู้ให้กู้จะสามารถเรียกร้องได้แต่เงินต้นคืน) ผู้ให้กู้ยังอาจมีความรับผิดทางอาญา (เช่น จำคุกและ/หรือปรับ) ตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราอีกด้วย

ในกรณีที่ผู้ให้กู้ระบุจำนวนเงินที่เป็นเท็จในสัญญาเพื่อหลีกเลี่ยงการคิดภาษีที่เกินอัตราที่กฎหมายกำหนด (เช่น ระบุว่ากู้ยืมเงินกันจำนวน 10,000 บาท โดยที่ความเป็นจริงผู้กู้ได้รับเงินไปเพียง 7,000 บาท) ผู้ให้กู้อาจมีความรับผิดทางอาญา (เช่น จำคุกและ/หรือปรับ) ตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราเช่นกัน

(6) การคิดดอกเบี้ยทบต้น

คู่สัญญาอาจตกลงกันให้มีการคิดคำนวณดอกเบี้ยแบบทบต้นได้ โดยจะต้องมีลักษณะและเงื่อนไข ดังต่อไปนี้

  • ดอกเบี้ยที่จะนำมาคำนวณทบต้นนั้นจะต้องเป็นดอกเบี้ยที่ค้างชำระเท่านั้น
  • ดอกเบี้ยนั้นจะต้องค้างชำระมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี และ
  • ข้อตกลงระหว่างคู่สัญญาให้คิดคำนวณดอกเบี้ยทบต้นนั้นจะต้องทำเป็นลายลักษณ์อักษร (เช่น ระบุไว้ในสัญญากู้ยืมเงิน)

(7) หลักประกัน

ในกรณีที่ผู้กู้มีหลักประกันวางหรือตราไว้ให้แก่ผู้กู้ อาจทำให้ผู้กู้มีความน่าเชื่อถือมากขึ้น โดยที่ หลักประกันการชำระหนี้ ในปัจจุบัน มี 4 ประเภทด้วยกัน ดังต่อไปนี้

(ก) จำนำ คือ การเอาทรัพย์สินซึ่งเป็นสังหาริมทรัพย์ (เช่น ของมีค่า ทองคำ แหวน นาฬิกา) วางหรือส่งมอบไว้ให้แก่ผู้ให้กู้เพื่อเป็นหลักประกันการชำระหนี้

(ข) จำนอง คือ การเอาทรัพย์สินซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ (เช่น ที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง) หรือสังหาริมทรัพย์บางประเภท (เช่น เรือระวางตั้งแต่ 5 ตันขึ้นไป) ตราไว้ให้แก่ผู้ให้กู้เพื่อเป็นหลักประกันการชำระหนี้ โดยไม่ต้องส่งมอบทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้ให้กู้ ทั้งนี้ การจำนองจะต้องจดทะเบียนกับนายทะเบียนของทรัพย์สินที่นำมาจำนองนั้นด้วย

(ค) ค้ำประกัน คือ การที่บุคคลภายนอก (เช่น ธนาคาร หรือบุคคลที่มีความมั่นคงทางการเงิน) เข้ามารับรองและยอมผูกพันตนต่อผู้ให้กู้ว่าหากผู้กู้ไม่ยอมชำระหนี้จำนวนที่ค้ำประกันดังกล่าวนั้น ผู้ค้ำประกันจะชำระหนี้นั้นแทน โดยจัดทำเป็นหนังสือค้ำประกัน

(ง) หลักประกันทางธุรกิจ คือ การนำสินทรัพย์ของกิจการ (เช่น กิจการ สิทธิเรียกร้อง เครื่องจักร สินค้าคงคลัง วัตถุดิบที่ใช้ในการประกอบกิจการ ทรัพย์สินทางปัญญา หรือไม้ยืนต้น) ตราไว้ให้แก่ผู้ให้กู้เพื่อเป็นหลักประกันการชำระหนี้ โดยไม่ต้องส่งมอบสินทรัพย์นั้นให้แก่ผู้ให้กู้ ทั้งนี้ การให้หลักประกันทางธุรกิจจะต้องจดทะเบียนกับนายทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจตามพระราชบัญญัติหลักประกันทางธุรกิจ ด้วย

(8) ความรับผิดทางภาษี

นอกจากภาษีเงินได้จากดอกเบี้ยแล้ว ผู้ให้กู้อาจมีภาระหน้าที่ในการชำระภาษี ดังต่อไปนี้

(9) การบังคับสัญญากู้ยืมเงิน

เนื่องจาก การเรียกร้องทางศาลตามสัญญากู้ยืมเงินมีอายุความ 10 ปีนับจากวันที่หนี้ครบกำหนดชำระ ดังนั้น เมื่อครบกำหนดชำระหนี้แล้ว ผู้ให้กู้ยังไม่ได้รับชำระเงินคืนและ/หรือดอกเบี้ย ผู้ให้กู้ควรดำเนินการทวงถามหนี้โดยไม่ชักช้า โดยอาจจัดทำ หนังสือทวงถามหนี้ เป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อเป็นหลักฐานการทวงถามหากต้องมีการฟ้องร้องในชั้นศาล

อย่างไรก็ดี หากผู้กู้ได้แสดงพฤติการณ์ที่แสดงว่ายอมรับการมีหนี้นั้นอยู่ ก็จะทำให้อายุความเริ่มนับจากวันที่มีพฤติการณ์นั้นแทน เช่น

  • ผู้กู้จัดทำและลงลายมือชื่อใน หนังสือรับสภาพหนี้
  • ผู้กู้ยอมชำระหนี้บางส่วน
  • ผู้กู้ชำระดอกเบี้ย
  • ผู้กู้วางหลักประกันการชำระหนี้นั้น

ผู้ให้กู้อาจศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการติดตามทวงถามหนี้จากผู้กู้ได้จาก คู่มือทางกฎหมาย: การทวงหนี้จากลูกหนี้อย่างถูกกฎหมายและมีประสิทธิภาพบนเว็บไซต์ของเรา

แบบฟอร์มและตัวอย่างต่าง ๆ ที่สามารถดาวน์โหลดได้ในรูปแบบ Word และ PDF

ให้คะแนนคู่มือฉบับนี้
4.5 - ดีมาก