เริ่มต้นธุรกิจด้วยการจัดตั้งบริษัทจำกัด

ปรับปรุงล่าสุด ปรับปรุงล่าสุด10 เมษายน 2023
คะแนน คะแนน 4.7 - 3 คะแนนโหวต

ในการดำเนินธุรกิจไม่ว่าจะเป็นการดำเนินธุรกิจขนาดเล็ก ขนาดกลาง หรือขนาดใหญ่ และไม่ว่าจะดำเนินธุรกิจในกลุ่มประเภทกิจการหรือในกลุ่มอุตสาหกรรมใด สิ่งที่สำคัญไม่แพ้ปัจจัยอื่นที่ผู้ประกอบธุรกิจจะต้องพิจารณาในการเริ่มดำเนินธุรกิจอย่างหนึ่งก็คือรูปแบบองค์กรธุรกิจที่จะใช้ในการดำเนินธุรกิจนั้นๆ (เช่น บุคคลธรรมดา ห้างหุ้นส่วน หรือบริษัท) โดยแต่ละรูปแบบก็มีลักษณะ ข้อดี ข้อจำกัดที่แตกต่างกันไป เช่น

  • จำนวนผู้ร่วมเป็นเจ้าของหรือร่วมลงทุน
  • การจำกัดความรับผิดหรือแยกความรับผิดของกิจการออกจากผู้เป็นเจ้าของ
  • อัตราภาษีและสิทธิประโยชน์ทางภาษี
  • ภาระหน้าที่การปฏิบัติตามกฎหมาย
  • ความน่าเชื่อถือของกิจการ

ผู้ใช้งานอาจศึกษาลักษณะ ข้อดี ข้อจำกัดของแต่ละรูปแบบองค์กรธุรกิจเพิ่มเติมได้จาก คู่มือทางกฎหมาย: รูปแบบองค์กรธุรกิจแบบใดที่เหมาะสมกับลักษณะกิจการของท่านที่สุด (เช่น บุคคลธรรมดา ห้างหุ้นส่วน บริษัท) บนเว็บไซต์ของเรา

สาเหตุที่ผู้ประกอบธุรกิจเลือกจัดตั้งบริษัทจำกัด

สาเหตุที่ผู้ประกอบธุรกิจเลือกจัดตั้งบริษัทจำกัดแทนการเลือกใช้รูปแบบองค์กรธุรกิจรูปแบบอื่น อาจด้วยเนื่องจาก

  • บริษัทจำกัดจะเสียภาษีเงินได้ของกิจการในรูปแบบของภาษีเงินได้นิติบุคคลซึ่งมีอัตราภาษีที่คงที่ และได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีของนิติบุคคล
  • บริษัทจำกัดมีภาระหน้าที่ในการจัดทำบัญชีตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในประมวลรัษฎากร
  • บริษัทจำกัดมีการแบ่งแยกความรับผิดของบริษัทจากผู้ถือหุ้น (ผู้เป็นเจ้าของบริษัท) อย่างชัดเจน โดยที่ผู้ถือหุ้นจะมีหน้าที่ความรับผิดเพียงค่าหุ้นของบริษัทตามจำนวนที่ตนถือเท่านั้น
  • บริษัทจำกัดจะมีภาระหน้าที่การปฏิบัติตามกฎหมาย หรือกระบวนการในการบริหารจัดการงานของบริษัทที่ซับซ้อนกว่าองค์กรธุรกิจรูปแบบอื่น เนื่องจากมีผู้เป็นเจ้าของหรือผู้ที่มีส่วนได้เสียที่มากกว่า ด้วยเหตุเดียวกันนี้ บริษัทจำกัดจึงมีความน่าเชื่อถือ ความสามารถและทางเลือกในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่มากกว่าองค์กรธุรกิจรูปแบบอื่น
  • ผู้เป็นผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นเจ้าของบริษัทอาจโอนหุ้นของตนให้แก่บุคคลอื่นเพื่อขายหรือให้สิทธิความเป็นเจ้าของบริษัทหรือกิจการนั้นได้ ด้วยเหตุนี้บริษัทจึงมีความคล่องตัวในการเปลี่ยนแปลงผู้เป็นเจ้าของกิจการมากกว่าห้างหุ้นส่วนหรือกิจการที่มีเจ้าของรายเดียว

ผู้ถือหุ้นอาจโอนหุ้นให้แก่บุคคลอื่นเพื่อขายหรือเปลี่ยนแปลงความเป็นเจ้าของกิจการได้โดยการจัดทำ สัญญาโอนหุ้นบริษัท และดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนด

ในการจัดตั้งบริษัทจำกัด ผู้ประกอบธุรกิจอาจมีข้อพิจารณาในการศึกษาข้อมูล ตัดสินใจ และดำเนินการ ดังต่อไปนี้

(1) การตั้งชื่อและจองชื่อของบริษัท

ในการตั้งชื่อบริษัท ผู้จะเป็นเจ้าของบริษัทอาจศึกษาข้อมูลและตั้งชื่อบริษัทได้ตามที่เจ้าของบริษัทต้องการ โดยที่อาจตั้งชื่อบริษัทให้สอดคล้องกับชื่อของกิจการหรือชื่อของธุรกิจเพื่อหลีกเลี่ยงความสับสนของคู่ค้าและลูกค้าของกิจการหรือไม่ก็ได้ อย่างไรก็ดี ชื่อของบริษัทจะต้องสอดคล้องตามกฎหมาย ระเบียบ และหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการตั้งชื่อนิติบุคคล เช่น

  • ชื่อของบริษัทจะต้องไม่มีการใช้ชื่อของหน่วยงานของรัฐ เช่น ชื่อกระทรวง ทบวง กรม ส่วนราชการ
  • ชื่อของบริษัทจะต้องไม่เหมือนหรือพ้อง หรือคล้ายคลึงกับชื่อที่ได้มีการจดทะเบียนหรือได้จองไว้ในระบบฐานข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าแล้ว
  • ชื่อของบริษัทต้องไม่มีการใช้คำที่ขัดต่อแนวนโยบายแห่งรัฐ คำที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
  • ชื่อของบริษัทที่ใช้ภาษาต่างประเทศต้องมีความหมายหรือเสียงเรียกขานตรงกับชื่อภาษาไทย
  • ชื่อของบริษัทต้องไม่มีการใช้คำหรือตัวอักษรที่ไม่ถูกหลักภาษาไทย

เมื่อผู้ประกอบธุรกิจตัดสินใจและเลือกชื่อที่จะใช้เป็นชื่อของบริษัทได้แล้ว ผู้เริ่มก่อการ ผู้ที่จะเป็นกรรมการบริษัท หรือ ผู้ถือหุ้น (เจ้าของบริษัท) อาจดำเนินการตรวจสอบชื่อนิติบุคคลและจองชื่อนิติบุคคลผ่านระบบฐานข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เพื่อใช้ในการดำเนินการจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิและจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทต่อไป

อนึ่ง ชื่อที่ได้รับจองไว้นั้นจะต้องมีการยื่นจดทะเบียนใช้ชื่อที่จองภายใน 30 วันนับจากวันที่ได้รับจอง

ผู้ใช้งานอาจศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับข้อจำกัดในการใช้ชื่อบริษัทได้จาก คำแนะนำในการตรวจสอบและจองชื่อนิติบุคคลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า และระเบียบสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกลางว่าด้วยการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนและบริษัท

(2) สถานที่ตั้งของกิจการ

สถานที่ตั้งของกิจการถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญในการดำเนินธุรกิจโดยเฉพาะการประกอบธุรกิจทางการค้า (เช่น ขายสินค้าและ/หรือบริการ) นอกจากสถานที่ตั้งของกิจการจะเป็นยุทธศาสตร์ทางธุรกิจของกิจการแล้ว (เช่น การสัญจรของผู้คน ความสะดวกในการเข้าถึง ทำเลที่ตั้ง ความสามารถในการประกอบการค้า) สถานที่ตั้งของกิจการที่จะใช้จดทะเบียนบริษัทนั้นก็จะถือเป็นสำนักงานแห่งใหญ่ของบริษัทที่จดทะเบียนนั้นด้วย ซึ่งสำนักงานแห่งใหญ่นี้ก็คือที่อยู่ของบริษัทนั่นเอง กล่าวคือเป็นที่อยู่สำหรับการรับ-ส่งเอกสารสำคัญ เอกสารคำบอกกล่าวทางกฎหมายต่างๆ

นอกจากนี้ ในกรณีที่ธุรกิจมีการประกอบกิจการหลายแห่ง อาจพิจารณาจดทะเบียนสถานประกอบกิจการเหล่านั้นเป็นสาขาของบริษัทด้วย

(3) การจัดทำหนังสือบริคณห์สนธิ

เมื่อเจ้าของธุรกิจได้ชื่อบริษัทและสถานที่ประกอบธุรกิจแล้ว สิ่งสำคัญลำดับต่อไปที่จะต้องพิจารณาคือการพิจารณากำหนดและจัดทำหนังสือบริคณห์สนธิของบริษัทและนำหนังสือดังกล่าวไปจดทะเบียน

โดยที่ หนังสือบริคณห์สนธิ คือเอกสารที่แสดงรายละเอียดสำคัญของบริษัท ดังต่อไปนี้

  • ชื่อของบริษัทที่ได้จองไว้
  • ที่ตั้งสำนักงานของบริษัท
  • วัตถุประสงค์ของบริษัท เช่น ขอบเขตการดำเนินธุรกิจของบริษัท ธุรกิจที่บริษัทสามารถประกอบได้
  • จำนวนทุนของบริษัท เช่น จำนวนเงินที่บริษัทใช้ในการดำเนินธุรกิจ โดยที่ผู้ถือหุ้นของบริษัท (เจ้าของบริษัท) จะจำกัดความรับผิดรวมกันแล้วไม่เกินจำนวนทุนจดทะเบียนของบริษัท รวมถึงจำนวนหุ้น และมูลค่าหุ้น ทั้งนี้ 1 หุ้นต้องมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 5 บาท โดยบริษัทต้องมีผู้ถือหุ้นอย่างน้อย 2 คน
  • รายละเอียดของผู้เริ่มก่อการ อย่างน้อย 2 คน (ผู้ริเริ่มก่อตั้งบริษัท) เช่น ชื่อ นามสกุล ที่อยู่ อาชีพ ลายมือชื่อ

ผู้ใช้งานสามารถศึกษาแนวทางการกำหนดวัตถุประสงค์ของบริษัทได้ที่ หลักเกณฑ์การกำหนดวัตถุประสงค์ห้างหุ้นส่วนและบริษัทของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า

(4) พิจารณากำหนดข้อบังคับบริษัท

ข้อบังคับบริษัท คือ กฎเกณฑ์หรือระเบียบที่ผู้ถือหุ้น ผู้เป็นเจ้าของบริษัทได้กำหนดตกลงกันเกี่ยวกับการดำเนินการสำคัญภายในต่างๆ ของบริษัท เช่น

  • ข้อบังคับเกี่ยวกับหุ้นและผู้ถือหุ้น เช่น จำนวนหุ้น หุ้นประเภทต่างๆ ของบริษัท การออกหุ้น การโอนหุ้น
  • ข้อบังคับเกี่ยวกับกรรมการบริษัท เช่น การแต่งตั้ง คุณสมบัติของกรรมการ อำนาจและเงื่อนไขการลงนามของกรรมการในการลงนามผูกพันบริษัท
  • ข้อบังคับเกี่ยวกับการประชุมกรรมการและประชุมผู้ถือหุ้น (ประชุมใหญ่) เช่น องค์ประชุม สิทธิออกเสียงของหุ้นแต่ละประเภท
  • ข้อบังคับเกี่ยวกับการเงินของบริษัท เช่น การจ่ายเงินปันผล การเก็บเงินสำรอง
  • ข้อบังคับเกี่ยวกับการเลิกบริษัท เช่น ระยะเวลาหรือเหตุเลิก
  • ข้อบังคับอื่นๆ (ถ้ามี) เช่น วิธีการแก้ไขปัญหาหรือข้อขัดแย้งที่ไม่สามารถหาข้อยุติระหว่างกรรมการ/ผู้ถือหุ้น

ผู้ก่อการและ/หรือผู้ถือหุ้นควรจัดทำ ข้อบังคับบริษัท และนำไปใช้ประกอบในการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท เพื่อเป็นกฎเกณฑ์และสร้างความเข้าใจถึงสิทธิ หน้าที่ และความสัมพันธ์ระหว่างผู้ถือหุ้นกับบริษัท ระหว่างผู้ถือหุ้นกับผู้ถือหุ้นด้วยกันเอง หรือระหว่างผู้ถือหุ้นกับกรรมการ และเพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงข้อพิพาทต่างๆ แม้กฎหมายไม่ได้บังคับให้บริษัทต้องจัดทำข้อบังคับบริษัทแต่อย่างใด

ผู้ก่อการและ/หรือผู้ถือหุ้นอาจเลือกใช้แบบ ข้อบังคับบริษัท ในการจัดทำข้อบังคับของบริษัท ในกรณีที่ต้องการตกลงและใช้บังคับสิทธิ หน้าที่ และความสัมพันธ์ต่างๆ ให้แตกต่างไปจากกฎหมายห้างหุ้นส่วนและบริษัทประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

(5) การประชุมจัดตั้งบริษัท

เมื่อหุ้นของบริษัทมีผู้จองซื้อหุ้นครบทั้งหมดแล้ว กฎหมายกำหนดให้มีการจัดประชุมจัดตั้งบริษัทขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อให้ผู้เริ่มก่อการและ/หรือผู้ถือหุ้นพิจารณากำหนดรายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับบริษัท เช่น

  • พิจารณากำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับหุ้นของบริษัท เช่น ชนิด ประเภท และจำนวนหุ้น การชำระค่าหุ้นครั้งแรก
  • พิจารณาแต่งตั้งกรรมการบริษัท ซึ่งกรรมการบริษัทคือบุคคลที่จะมีอำนาจบริหารจัดการงานต่างๆ ของบริษัท ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายที่ผู้ถือหุ้นกำหนด
  • พิจารณากำหนดอำนาจของกรรมการ
  • พิจารณาแต่งตั้งและกำหนดค่าตอบแทนผู้สอบบัญชีรับอนุญาตของบริษัท
  • พิจารณากำหนดข้อบังคับบริษัท (ถ้ามี)
  • พิจารณากำหนดตราประทับของบริษัท (ถ้ามี)

ผู้ใช้งานอาจจัดทำ รายงานการประชุมจัดตั้งบริษัท เป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อให้การประชุมจัดตั้งบริษัทมีหลักฐานเป็นหนังสือ และเพื่อใช้เป็นเอกสารประกอบในการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท

(6) การเรียกให้ชำระค่าหุ้นครั้งแรก

เมื่อในที่ประชุมจัดตั้งบริษัทได้มีมติกำหนดการชำระค่าหุ้นครั้งแรกแล้ว กรรมการบริษัทที่ได้รับแต่งตั้งนั้นจะต้องดำเนินการเรียกชำระค่าหุ้นครั้งแรกจากผู้ถือหุ้นตามมติของที่ประชุมที่ได้กำหนดไว้ ซึ่งในที่ประชุมอาจพิจารณากำหนดให้ผู้ถือหุ้นชำระค่าหุ้นครั้งแรกเต็มมูลค่าหุ้นเลยหรือให้ชำระเพียงบางส่วนแล้วจึงมีการเรียกชำระในภายหลังเมื่อบริษัทต้องการสภาพคล่องทางการเงินก็ได้ อย่างไรก็ดี ในกรณีที่มีการกำหนดให้ชำระเพียงบางส่วน ค่าหุ้นที่เรียกให้ชำระครั้งแรกนั้นจะต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ของมูลค่าหุ้น

เมื่อบริษัทได้รับชำระค่าหุ้นครบถ้วนถูกต้องตามจำนวนที่เรียกเก็บแล้ว กรรมการบริษัทอาจออก ใบสำคัญรับเงิน ให้แก่ผู้ถือหุ้นเพื่อเป็นหลักฐานแห่งการรับชำระค่าหุ้นนั้นและเพื่อใช้เป็นเอกสารประกอบการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทด้วย

ในการเสนอขายหุ้นแก่ผู้ลงทุนที่สนใจจะเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท ผู้ประกอบธุรกิจอาจจัดทำ หนังสือชี้ชวนให้ซื้อหุ้น เพื่อแสดงรายละเอียดสำคัญเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจและการดำเนินการของบริษัท รวมถึงให้ผู้ลงทุนที่สนใจจัดทำ หนังสือจองซื้อหุ้นบริษัท เพื่อแสดงเจตนาที่จะซื้อหุ้นของบริษัทที่เสนอขายนั้นๆ

(7) การดำเนินการจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิและจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท

เมื่อได้ดำเนินกระบวนการต่างๆ ข้างต้นครบถ้วนแล้ว ผู้เริ่มก่อการหรือกรรมการบริษัทอาจดำเนินการยื่นคำขอจดทะเบียนกับสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ภายในกรอบระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด เพื่อจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิและจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท ดังต่อไปนี้

(ก) การจองชื่อนิติบุคคล
(ข) การจัดทำหนังสือบริคณห์สนธิ (และจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิ ในกรณีที่ไม่ได้จดทะเบียนในวันเดียวกันกับการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท)
(ค) ผู้เริ่มก่อการจัดให้มีการจองซื้อหุ้นจนครบถ้วน
(ง) การประชุมจัดตั้งบริษัท
(จ) การชำระค่าหุ้นครั้งแรก
(ฉ) ยื่นคำขอจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท (และจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิ ในกรณีที่จดทะเบียนในวันเดียวกัน)

โดยที่ ระยะเวลาระหว่าง (ก) ถึง (ข) จะต้องไม่เกิน 30 วัน ระยะเวลาระหว่าง (ง) ถึง (ฉ) จะต้องไม่เกิน 3 เดือน และระยะเวลาระหว่าง (ข) ถึง (ฉ) จะต้องไม่เกิน 3 ปี อย่างไรก็ดี ในกรณีที่ผู้ถือหุ้นและบริษัทมีความพร้อมในการดำเนินการต่างๆ ก็สามารถดำเนินการ (ข) ถึง (ฉ) ภายในวันเดียวกันก็ได้

ทั้งนี้ เมื่อได้ดำเนินการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทและนายทะเบียนได้รับจดทะเบียนไว้เรียบร้อยแล้ว บริษัทจะมีสถานะเป็นนิติบุคคลแยกออกต่างหากจากผู้ถือหุ้น

อนึ่ง ผู้ประกอบธุรกิจที่มีความประสงค์จะจัดตั้งบริษัท สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการดำเนินการจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิและจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท (เช่น ค่าธรรมเนียม เอกสารประกอบคำขอ สถานที่รับจดทะเบียน กรอบระยะเวลา) ได้ที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า

ในกรณีที่ ผู้เริ่มก่อการหรือกรรมการบริษัทไม่สะดวกไปดำเนินการจดทะเบียนที่สำนักทะเบียนด้วยตนเอง ผู้เริ่มก่อการหรือกรรมการบริษัทอาจจัดทำ หนังสือมอบอำนาจ เพื่อมอบหมายให้บุคคลอื่นไปดำเนินการจดทะเบียนแทนได้ (เช่น ทนายความ) ในกรณีเช่นนี้จะต้องมีการรับรองลายมือชื่อตามแบบและหลักเกณฑ์ที่สำนักทะเบียนกำหนด (เช่น ทนายความ)

(8) ดำเนินการอื่นๆ

เมื่อบริษัทได้จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายแล้วจะถือว่าเป็นอีกบุคคลหนึ่ง จึงอาจต้องมีการดำเนินการอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจหรือกิจการนั้นๆ โดยเฉพาะ เช่น

  • การเปิดบัญชีธนาคารของบริษัทเพื่อใช้ในการทำธุรกรรมของบริษัท
  • การขออนุญาตประกอบธุรกิจบางประเภทที่มีกฎหมายควบคุม
  • การจัดทำประกันภัยทางธุรกิจ

จากที่กล่าวข้างต้น การดำเนินการจัดตั้งบริษัทไม่ใช่กระบวนการที่ยุ่งยากซับซ้อนแต่เป็นกระบวนการที่ต้องใช้ความละเอียดความรอบคอบ และความเข้าใจของผู้ที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบธุรกิจอาจปรึกษาทนายความ ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจไม่แน่ใจในกระบวนการจัดตั้งบริษัท

แบบฟอร์มและตัวอย่างต่าง ๆ ที่สามารถดาวน์โหลดได้ในรูปแบบ Word และ PDF

ให้คะแนนคู่มือฉบับนี้