ข้อสัญญาหรือข้อตกลงการห้ามประกอบอาชีพและ/หรือห้ามประกอบกิจการ คือข้อตกลงระหว่างคู่สัญญา (เช่น นายจ้างกับลูกจ้าง ผู้ให้บริการกับผู้รับบริการ ผู้เปิดเผยข้อมูลกับผู้ได้รับข้อมูล) ที่กำหนดให้คู่สัญญาฝ่ายหนึ่ง (เช่น ฝ่ายลูกจ้าง ฝ่ายผู้ให้บริการ ฝ่ายผู้ได้รับข้อมูล) ห้ามไปทำงาน ประกอบอาชีพและ/หรือประกอบกิจการ อย่างใดอย่างหนึ่งด้วยเงื่อนไขที่กำหนด ซึ่งโดยทั่วไปมักกำหนดบังคับใช้กับลูกจ้างหรือคู่สัญญาที่มีหน้าที่หรืออยู่ในตำแหน่งที่สำคัญ (Strategic Personnel) เช่น ผู้บริหาร ผู้จัดการ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายขายและการตลาด หน้าที่ฝ่ายพัฒนาและวิจัย ผู้จัดการโครงการ วิศวกร นักวิจัย โดยที่ข้อตกลงการห้ามประกอบอาชีพและหรือห้ามประกอบกิจการนั้น อาจสามารถพบได้ในสัญญาดังต่อไปนี้ เช่น สัญญาจ้างแรงงาน สัญญาบริการ สัญญาเก็บรักษาความลับ สัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ รวมถึง สัญญาโอนหุ้นบริษัท และ สัญญาซื้อขายกิจการ หรืออาจสามารถพบเป็นสัญญาห้ามทำงาน/ประกอบกิจการแยกเป็นฉบับหนึ่งเลยก็ได้
ข้อสัญญาการห้ามประกอบอาชีพและ/หรือห้ามประกอบกิจการ เช่น ลูกจ้างตกลงจะไม่ทำงานให้กับกิจการร้านอาหารคู่แข่งของนายจ้าง ประกอบกิจการหรือเข้าร่วมในการประกอบกิจการเกี่ยวกับร้านขายอาหาร ในระหว่างการจ้างงานและภายใน 5 ปีนับแต่สัญญาจ้างสิ้นสุดลง
เนื่องจากคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งอาจได้รับข้อมูลทางการค้าที่สำคัญ ได้เรียนรู้ พัฒนาทักษะ ความรู้ ความสามารถจากคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง ในระหว่างการทำงาน เจรจาต่อรอง การเปิดเผยข้อมูล การดำเนินโครงการร่วมกัน หรือการดำเนินการอื่นๆ ร่วมกันระหว่างคู่สัญญา ซึ่งหากคู่สัญญาฝ่ายนั้นออกไปทำงานให้กับกิจการของคู่แข่งหรือออกไปเปิดกิจการแข่งขันแล้วอาจทำให้คู่สัญญาฝ่ายที่ให้ข้อมูลและให้การฝึกอบรมเกิดความเสียหายได้หรือเสียเปรียบทางการค้าได้ ดังนั้น ในการที่คู่สัญญาอีกฝ่าย (เช่น นายจ้าง ผู้รับบริการ ผู้เปิดเผยข้อมูล) มีข้อห้ามประกอบอาชีพและ/หรือห้ามประกอบกิจการ อาจมีวัตถุประสงค์หลักพิจารณาได้ ดังต่อไปนี้
โดยในประเทศไทย มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับข้อสัญญาการห้ามประกอบอาชีพและ/หรือห้ามประกอบกิจการ ได้แก่ พระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งกำหนดให้ข้อสัญญาหรือข้อตกลงการห้ามประกอบอาชีพและ/หรือห้ามประกอบกิจการอาจสามารถใช้บังคับได้หากการห้ามดังกล่าวมีลักษณะ
(1) ไม่เป็นโมฆะ เช่น ไม่มีวัตถุประสงค์เป็นการพ้นวิสัยหรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ไม่ใช่การห้ามประกอบอาชีพหรือกิจการโดยเด็ดขาดจนไม่อาจมีรายได้เพื่อดำรงชีวิตอยู่ได้
(2) ไม่ทำให้ผู้ถูกห้ามต้องรับภาระการจำกัดจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพในการประกอบอาชีพหรือประกอบกิจการมากกว่าที่จะพึงคาดหมายได้ตามปกติจากการเข้าทำสัญญานั้น
(3) การห้ามนั้นเป็นธรรมและสมควรแก่กรณี
โดยหลักเกณฑ์ที่กำหนดดังกล่าว อาจมีความเป็นนามธรรมและความยืดหยุ่น กล่าวคือ ข้อสัญญาดังกล่าวจะสามารถใช้บังคับได้หรือไม่นั้น อาจขึ้นอยู่กับการตีความและดุลยพินิจของศาลในแต่ละกรณีว่าเงื่อนไขการห้ามนั้นสมควรหรือมากเกินไปหรือไม่ โดยพิจารณาจากบริบทและปัจจัยต่างๆ ของแต่กรณีประกอบกัน ดังต่อไปนี้
ตัวอย่าง: ในการจ้างแรงงานลูกจ้างชาวต่างชาติซึ่งทำงานในตำแแหน่ง ผู้จัดการสาขา โดยตำแหน่งย่อมสามารถล่วงรู้ความเป็นไปเกี่ยวกับธุรกิจและบริษัทในเครือตลอดจนความลับในทางการค้า ทำสัญญาห้ามทำงาน/ประกอบกิจการ โดยกำหนดห้ามทำงานหรือประกอบกิจการอันเป็นกิจการคู่แข่งของนายจ้าง ภายในระหว่างการจ้างงานและภายใน 5 ปีนับแต่สัญญาจ้างสิ้นสุดลง ในบริเวณประเทศไทย ประเทศสาธารณรัฐเวียดนาม ประเทศกัมพูชา ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และประเทศเมียนมา ในกรณีเช่นนี้ศาลพิจารณาว่าเป็นการห้ามที่เป็นธรรมและสมควรแก่กรณี ในทางกลับกัน หากปัจจัยหรือพฤติการณ์ของกรณีเปลี่ยนไป (เช่น ตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง ตำแหน่งพนักงานทั่วไป) ความเป็นธรรมและสมควรก็ย่อมเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย เช่น ระยะเวลาและบริเวณพื้นที่ในการห้ามที่เป็นธรรมและสมควรอาจเพิ่มขึ้นหรือลดลง
ในกรณีที่คู่สัญญาฝ่ายที่ถูกห้าม (เช่น ฝ่ายลูกจ้าง ฝ่ายผู้ให้บริการ ฝ่ายผู้ได้รับข้อมูล) ได้ปฏิบัติผิดสัญญาห้ามทำงาน/ประกอบกิจการ เช่น การที่คู่สัญญาฝ่ายที่ถูกห้ามไปรับทำงานให้กับกิจการของคู่แข่งที่ระบุห้ามเอาไว้ก่อนครบกำหนดระยะเวลาในสัญญา หรือคู่สัญญาฝ่ายที่ถูกห้ามไปเปิดกิจการเป็นคู่แข่งภายในพื้นที่และระยะเวลาที่กำหนดห้ามเอาไว้ ในกรณีเช่นนี้ คู่สัญญาฝ่ายที่ห้ามสามารถฟ้องร้องคู่สัญญาฝ่ายที่ถูกห้ามเพื่อบังคับให้ปฏิบัติตามสัญญาได้ (เช่น การเลิกประกอบกิจการที่กำหนดนั้น) รวมถึงหากมีความเสียหายจากการปฏิบัติผิดข้อสัญญานั้น คู่สัญญาฝ่ายที่ห้ามยังสามารถเรียกร้องเอาค่าเสียหายได้อีกด้วย ทั้งนี้ สัญญาห้ามทำงาน/ประกอบกิจการจะต้องเป็นการห้ามที่ศาลพิจารณาว่าเป็นการจำกัดที่เป็นธรรมและสมควรแก่กรณีตามที่ได้อธิบายไว้ในข้อก่อนด้วย
ผู้ห้ามอาจกำหนดสภาพบังคับเพิ่มเติมในสัญญา เช่น ค่าปรับหรือค่าเสียหายล่วงหน้าในกรณีที่ผู้ถูกห้ามฝ่าฝืนข้อสัญญาหรือข้อตกลงเกี่ยวกับการห้ามประกอบอาชีพและ/หรือกิจการนั้นก็ได้ อย่างไรก็ดี ค่าปรับตามกฎหมาย หากสูงเกินความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจริง ศาลอาจมีอำนาจสั่งให้ลดลงได้ตามที่ศาลเห็นสมควร ทั้งนี้เพื่อสอดคล้องกับความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง
การกำหนดข้อตกลงหรือข้อสัญญาห้ามประกอบอาชีพและ/หรือห้ามประกอบกิจการใดนั้น สามารถทำได้และจะสามารถบังคับใช้ได้เมื่อการจำกัดลักษณะอาชีพ กิจการ ขอบเขตพื้นที่ และระยะเวลานั้น มีความเป็นธรรมและพอสมควรกับกรณีเท่านั้น ซึ่งความเป็นธรรมและพอสมควรนั้นก็ย่อมแตกต่างกันไปตามแต่ละบริบทของคู่สัญญานั้นและปัจจัยต่างๆ ด้วย โดยผู้ใช้งานอาจเทียบเคียงบริบทของผู้ใช้งานจากแนวคำพิพากษาที่ได้เคยมีคำวินิจฉัยไว้แล้วที่มีคดีที่มีบริบทและ/หรือเงื่อนไขใกล้เคียงกัน หรืออาจปรึกษาทนายความก่อนการกำหนดข้อตกลงหรือข้อสัญญาห้ามประกอบอาชีพและ/หรือห้ามประกอบกิจการนั้น
สัญญาเก็บรักษาความลับกับสัญญาห้ามทำงาน/ประกอบกิจการ แม้ทั้งสองสัญญาจะมีวัตถุประสงค์ที่เหมือนกัน กล่าวคือ เพื่อคุ้มครองและรักษาสิทธิประโยชน์ทางธุรกิจของคู่สัญญาฝ่ายผู้ห้าม (เช่น นายจ้าง ผู้รับบริการ ผู้เปิดเผยข้อมูล) แต่สัญญาห้ามทำงาน/ประกอบกิจการเป็นการจำกัดสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ถูกห้าม (เช่น สิทธิในการประกอบอาชีพ ประกอบกิจการ การทำงาน) จึงมีข้อจำกัดหรือข้อควรระวังในการห้ามมากกว่า สัญญาเก็บรักษาความลับ ซึ่งมุ่งเน้นในการคุ้มครอง ห้ามไม่ให้ผู้ถูกห้ามใช้หรือเปิดเผยข้อข้อมูลที่ได้รับจากคู่สัญญาฝ่ายที่ห้าม ในขณะที่ข้อมูลความลับทางการค้าเหล่านั้น เดิมทีก็เป็นสิทธิของคู่สัญญาฝ่ายผู้ห้ามอยู่แล้ว ด้วยเหตุนี้ สัญญาเก็บรักษาความลับ จึงมีข้อจำกัดหรือข้อควรระวังในการห้ามที่น้อยกว่าสัญญาห้ามทำงาน/ประกอบกิจการเป็นอย่างมาก