สัญญาซื้อขายกิจการคืออะไร
สัญญาซื้อขายกิจการหรือสัญญาเซ้งกิจการ/ธุรกิจ คือ สัญญาที่ผู้ขายกิจการซึ่งเป็นเจ้าของหรือผู้ประกอบกิจการ/ธุรกิจ ขายกิจการหรือเซ้งกิจการ/ธุรกิจของตนต่อให้แก่ผู้ซื้อกิจการซึ่งต้องการเข้ามาเป็นเจ้าของคนใหม่และดำเนินกิจการ/ธุรกิจดังกล่าวนั้นต่อ
สัญญาซื้อขายกิจการและสัญญาซื้อขายหุ้นบริษัทแตกต่างกัน อย่างไร
สัญญาซื้อขายกิจการและสัญญาซื้อขายหุ้นบริษัทมีวัตถุประสงค์ในการเปลี่ยนแปลงเจ้าของกิจการ/ธุรกิจเหมือนกัน แต่สัญญาทั้ง 2 ฉบับมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน เช่น
- ในกรณีสัญญาซื้อขายกิจการ ผู้ซื้อกิจการจะเลือกซื้อสินทรัพย์สำคัญในการดำเนินกิจการ/ธุรกิจ ไม่ว่าเพียงบางส่วนตามความต้องการ หรือทั้งหมด (เช่น อาคาร เครื่องมือ/อุปกรณ์ สินค้า เครื่องหมายการค้า/ชื่อทางการค้า สูตร กระบวนการ/กรรมวิธีผลิต พนักงาน/ผู้จัดการที่มีความรู้/ความชำนาญ)
- ในกรณีสัญญาซื้อขายหุ้นบริษัท ผู้ซื้อกิจการจะซื้อหุ้นของบริษัทที่ประกอบกิจการ/ธุรกิจจากเจ้าของ/ผู้ถือหุ้นเดิมในสัดส่วนที่มากพอที่จะมีอำนาจควบคุมการบริหารจัดการ และได้มาซึ่งความเป็นเจ้าของบริษัทซึ่งมีอำนาจตัดสินใจเกี่ยวกับการดำเนินงานกิจการ/ธุรกิจของบริษัททั้งหมด รวมถึงความรับผิดของบริษัทด้วย (เช่น หนี้สิน คดีความที่บริษัทถูกฟ้องร้องต่างๆ)
ผู้ใช้งานสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คู่มือทางกฎหมาย: การซื้อขายหรือโอนกิจการ สามารถใช้วิธีการใดได้บ้าง และวิธีใดดีที่สุด และในกรณีที่คู่สัญญาต้องการซื้อขายกิจการโดยการซื้อขายหุ้นของบริษัท ผู้ใช้งานอาจเลือกใช้สัญญาซื้อขายหุ้นบริษัท
จำเป็นต้องทำสัญญาซื้อขายกิจการ หรือไม่
จำเป็น คู่สัญญาควรจัดทำสัญญาซื้อขายกิจการ เนื่องจากการซื้อขายกิจการอาจประกอบไปด้วยนิติกรรมสำคัญซึ่งกฎหมายกำหนดให้ต้องทำเป็นหนังสือ เช่น
- การซื้อขายทรัพย์สิน (เช่น สินค้าคงคลัง เครื่องมือ/อุปกรณ์) มูลค่าเกินกว่า 20,000 บาท หากไม่ได้มีการวางมัดจำหรือชำระเงินไปบางส่วนแล้ว จะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือและลงชื่อคู่สัญญาจึงจะสามารถฟ้องร้องบังคับกันได้
- การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ (เช่น ที่ดิน อาคาร สิ่งปลูกสร้าง) จะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียน
- การซื้อขายทรัพย์สินทางปัญญา (เช่น เครื่องหมายการค้า/ชื่อทางการค้าจดทะเบียน สิทธิบัตร) จะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียน
จำเป็นจะต้องดำเนินการอย่างไรก่อนทำสัญญาซื้อขายกิจการ
คู่สัญญาไม่จำเป็นจะต้องดำเนินการใดๆ ก่อนตามกฎหมายในการจัดทำสัญญาซื้อขายกิจการ
อย่างไรก็ดี ก่อนการจัดทำสัญญาซื้อขายกิจการ ผู้ซื้อกิจกาอาจมีข้อพิจารณา ดังต่อไปนี้
- ตรวจสอบและประเมินกิจการ (Due Diligence) (เช่น กระบวนการทำงานภายใน เอกสารทางการเงิน รายได้/ค่าใช้จ่าย กำไร/ขาดทุน เอกสารการจดทะเบียนสำคัญ)
- ตรวจสอบสภาพทรัพย์สินว่ายังอยู่ในสภาพดี และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้ (เช่น สินค้าที่ใกล้หมดอายุ เครื่องมือ/อุปกรณ์ที่ชำรุด)
- ตรวจสอบอสังหาริมทรัพย์ (เช่น ที่ดิน อาคาร สิ่งปลูกสร้าง) ว่าไม่มีภาระผูกพันที่อาจทำให้ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ตามความต้องการ (เช่น ติดสัญญาเช่า ติดจำนอง ภาระจำยอม สิทธิเก็บกิน)
- ในกรณีการโอนสิทธิการเช่า ตรวจสอบเงื่อนไขการโอนสิทธิการเช่าตามสัญญาเช่าระหว่างผู้ให้เช่ากับผู้เช่า/ผู้ขายกิจการ (เช่น การโอนสิทธิการเช่า ค่าธรรมเนียมการเปลี่ยนแปลงสัญญา/การเปลี่ยนผู้เช่า)
สัญญาซื้อขายกิจการเกี่ยวข้องกับใครบ้าง
บุคคลที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำสัญญาซื้อขายกิจการ ได้แก่
- ผู้ขายกิจการ (เช่น ผู้ประกอบธุรกิจที่ต้องการขายกิจการ/ธุรกิจ) ตัวแทนผู้มีอำนาจของผู้ขายกิจการ (เช่น กรรมการ หุ้นส่วนผู้จัดการ) หรือตัวแทนที่ได้รับมอบหมาย (เช่น ผู้จัดการ/ผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร) ซึ่งเป็นผู้ลงนามในสัญญาในฐานะผู้ขายกิจการ
- ผู้ซื้อกิจการ (เช่น ผู้ที่ต้องการซื้อกิจการ/ธุรกิจต่อจากผู้ขายกิจการ) ตัวแทนผู้มีอำนาจของผู้ซื้อกิจการ (เช่น กรรมการ หุ้นส่วนผู้จัดการ) หรือตัวแทนที่ได้รับมอบหมาย (เช่น ผู้จัดการ/ผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร) ซึ่งเป็นผู้ลงนามในสัญญาในฐานะผู้ซื้อกิจการ
จะต้องทำอย่างไรต่อหลังจากที่ลงนามในสัญญาซื้อขายกิจการแล้ว
คู่สัญญาควรจัดทำสัญญาซื้อขายกิจการเป็นลายลักษณ์อักษร และให้คู่สัญญาหรือตัวแทนผู้มีอำนาจของคู่สัญญา รวมถึงพยานด้วย (ถ้ามี) ลงนามในสัญญาฉบับดังกล่าวให้เรียบร้อย
เมื่อจัดทำและลงนามในสัญญาซื้อขายกิจการเรียบร้อยแล้ว คู่สัญญาอาจพิจารณาดำเนินการ ดังต่อไปนี้
- อาจจัดทำคู่ฉบับของสัญญาอย่างน้อย 2 ฉบับ เพื่อให้คู่สัญญาแต่ละฝ่ายเก็บไว้ใช้อ้างอิงเป็นหลักฐานได้ฝ่ายละอย่างน้อย 1 ฉบับ
- ขอเอกสารแสดงตัวตนของคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งที่ลงนามรับรองสำเนาถูกต้องมาเก็บไว้ประกอบสัญญาฉบับที่ตนเองถือไว้ด้วย เช่น บัตรประจำตัวประชาชน หนังสือเดินทาง หนังสือรับรองและบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคล (กรณีนิติบุคคล) รวมถึง หนังสือมอบอำนาจ ในกรณีที่มีการมอบอำนาจ
- อาจพิจารณาแนบเอกสารที่เกี่ยวข้องกับสัญญาซื้อขายกิจการ
- ในกรณีที่มีการโอนสิทธิการเช่า อาจพิจารณาจัดทำสัญญาเช่าอาคาร/พื้นที่พาณิชย์ฉบับใหม่กับผู้ให้เช่าด้วย
- ในกรณีที่มีการซื้อขายทรัพย์สินที่มีทะเบียน (เช่น อสังหาริมทรัพย์ เครื่องหมายการค้า) คู่สัญญาจะต้องไปดำเนินการจดทะเบียนโอนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
- ในกรณีที่กิจการ/ธุรกิจมีกฎหมายควบคุมเฉพาะ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเจ้าของผู้ดำเนินกิจการ/ธุรกิจ ผู้ซื้อกิจการอาจจำเป็นต้องดำเนินการเพิ่มเติมตามกฎหมายควบคุมเฉพาะของกิจการ/ธุรกิจนั้นๆ ด้วย (เช่น การขอออกใบอนุญาตใหม่ การแจ้งขอเปลี่ยนแปลงผู้ดำเนินกิจการ/ธุรกิจ)
จะต้องแนบหลักฐานหรือเอกสารประกอบสัญญาซื้อขายกิจการด้วย หรือไม่
คู่สัญญาอาจพิจารณาแนบเอกสารที่เกี่ยวข้องกับสัญญาซื้อขายกิจการ เพื่อความชัดเจนและความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกันระหว่างคู่สัญญา เช่น
- รายการทรัพย์สิน (เช่น รูปภาพของกิจการ/ธุรกิจ รายการสินค้า รายการเครื่องมือ/อุปกรณ์)
- เอกสารแสดงการถือครองกรรมสิทธิ์/เอกสารทางทะเบียนของทรัพย์สิน (ถ้ามี) (เช่น โฉนดที่ดิน)
- เครื่องหมายการค้า (เช่น รูปภาพเครื่องหมายการค้าของกิจการ/ธุรกิจ ตรา สัญลักษณ์ โลโก้ของร้าน ใบสำคัญจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า)
- ข้อมูลความลับทางการค้า (เช่น สูตรอาหาร รายชื่อลูกค้า กรรมวิธี/กระบวนการพิเศษ)
สัญญาซื้อขายกิจการจำเป็นจะต้องจดทะเบียนกับหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง หรือไม่
จำเป็น ในกรณีที่คู่สัญญาตกลงซื้อขายทรัพย์สินที่มีทะเบียน คู่สัญญาจะต้องไปดำเนินการจดทะเบียนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น
- อสังหาริมทรัพย์ (เช่น ที่ดิน อาคาร สิ่งปลูกสร้าง) คู่สัญญาจะต้องไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์และนิติกรรมการซื้อขายกับสำนักงานที่ดิน
- เครื่องหมายการค้าจดทะเบียน/สิทธิในคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า คู่สัญญาจะต้องไปดำเนินการจดทะเบียน/จดแจ้งกับนายทะเบียน กรมทรัพย์สินทางปัญญา
- สิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตร คู่สัญญาจะต้องไปดำเนินการจดทะเบียนกับนายทะเบียน กรมทรัพย์สินทางปัญญา
- การโอนสิทธิการเช่าที่จดทะเบียน (เช่น การเช่าที่มีระยะเวลาเกินกว่า 3 ปี) คู่สัญญาจะต้องไปจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงสิทธิการเช่ากับสำนักงานที่ดิน
ผู้ใช้งานสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่คู่มือทางกฎหมาย: การโอนสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาต้องทำอย่างไร? และคู่มือทางกฎหมาย: จดทะเบียนโอนสิทธิในเครื่องหมายการค้า ต้องทำอย่างไร?
สัญญาซื้อขายกิจการจำเป็นจะต้องมีพยานลงนามด้วย หรือไม่
ไม่จำเป็น กฎหมายไม่ได้กำหนดให้สัญญาซื้อขายกิจการจำเป็นจะต้องมีพยานลงนามด้วย
อย่างไรก็ดี คู่สัญญาอาจพิจารณาจัดให้มีพยานลงนามในสัญญาซื้อขายกิจการตามที่เห็นสมควรด้วยก็ได้ ในกรณีเช่นนี้ พยานควรเป็นบุคคลผู้มีความสามารถในการทำนิติกรรมอย่างสมบูรณ์ (เช่น ผู้บรรลุนิติภาวะ อายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ ไม่เป็นบุคคลวิกลจริตหรือบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นผู้เสมือนไร้ความสามารถ ไม่เป็นผู้ทุพพลภาพ) และไม่ใช่บุคคลที่มีหน้าที่/ภาระผูกพันตามสัญญาซื้อขายกิจการ (เช่น คู่สัญญา)
มีค่าใช้จ่ายใดบ้างที่เกี่ยวข้องในการจัดทำสัญญาซื้อขายกิจการ
ในกรณีที่คู่สัญญาตกลงซื้อขายทรัพย์สินที่มีทะเบียน คู่สัญญาจะต้องไปดำเนินการจดทะเบียนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยคู่สัญญาอาจมีค่าใช้จ่ายที่ต้องพิจารณาจัดเตรียม ดังต่อไปนี้
ในกรณีการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ (เช่น ที่ดิน อาคาร สิ่งปลูกสร้าง) เช่น
ในกรณีการซื้อขายเครื่องหมายการค้าจดทะเบียน เช่น
ในกรณีการซื้อขายสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตร เช่น
ในกรณีการโอนสิทธิการเช่าซึ่งได้จดทะเบียนไว้ (เช่น การเช่าที่มีระยะเวลาเกินกว่า 3 ปี) เช่น
จำเป็นต้องทำสัญญาการห้ามประกอบอาชีพและ/หรือกิจการแข่งขันด้วย หรือไม่
เนื่องจากผู้ขายกิจการย่อมมีฝีมือ ความรู้ ความชำนาญ ความลับของกิจการ/ธุรกิจ หากผู้ขายกิจการไปเปิดกิจการ/ธุรกิจเช่นเดียวกันเพื่อแข่งขันหรือไปเป็นลูกจ้างให้กับกิจการคู่แข่ง ผู้ซื้อกิจการอาจได้รับความเสียหายได้ สัญญาซื้อขายกิจการฉบับนี้จึงประกอบไปด้วยข้อตกลงการห้ามผู้ขายกิจการประกอบกิจการแข่งขันไว้ในเบื้องต้น อย่างไรก็ดี คู่สัญญาอาจจัดทำสัญญาการห้ามประกอบอาชีพและ/หรือกิจการแข่งขันแยกเป็นสัญญาอีกฉบับโดยเฉพาะ/โดยละเอียดด้วยก็ได้
ผู้ใช้งานสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คู่มือทางกฎหมาย: ข้อสัญญาหรือข้อตกลงการห้ามประกอบอาชีพและ/หรือกิจการ สามารถบังคับใช้ได้หรือไม่ อย่างไร ภายใต้กฎหมายไทย
ต้องระบุข้อมูลสำคัญใดบ้างลงในสัญญาซื้อขายกิจการ
คู่สัญญาควรระบุรายละเอียดและข้อความสำคัญในสัญญาซื้อขายกิจการ ดังต่อไปนี้
- คู่สัญญา เช่น ชื่อ ที่อยู่ เพื่อการอ้างอิงที่ถูกต้อง
- สินทรัพย์ของกิจการ/ธุรกิจ เช่น ทรัพย์สิน (เช่น อาคาร สำนักงาน วัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือ วัตถุดิบ หรือสินค้าต่างๆ) ทรัพย์สินทางปัญญา (เช่น ความลับทางการค้า เครื่องหมายการค้า ชื่อทางการค้า สูตร กระบวนการ และกรรมวิธีการผลิต) บุคลากรสำคัญ (เช่น พนักงาน/ผู้จัดการที่มีความรู้ ความสามารถ ความชำนาญ) สิทธิอื่นๆ (เช่น สิทธิการเช่าสถานประกอบกิจการ สิทธิเรียกร้องต่างๆ)
- ค่าตอบแทน เช่น ราคา เงินมัดจำ กำหนดระยะเวลาการชำระเงิน วิธีการชำระเงิน
- กำหนดระยะเวลาสำคัญ เช่น วันที่ส่งมอบกิจการ วันที่จะไปจดทะเบียนโอน (ถ้ามี) วันที่จะร่วมกันดำเนินการตรวจนับสินค้าคงคลัง (ถ้ามี)
- เงื่อนไขอื่นๆ (ถ้ามี) เช่น การตรวจสอบและประเมินกิจการ (Due Diligence) การสอนฝึกอบรมและการให้ความช่วยเหลือ (Training and Support)
กฎหมายใดบ้างที่เกี่ยวข้องกับสัญญาซื้อขายกิจการ
กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำสัญญาซื้อขายกิจการอาจแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับประเภทสินทรัพย์ของกิจการ/ธุรกิจที่คู่สัญญาตกลงซื้อขายกัน โดยอาจพิจารณาได้ ดังต่อไปนี้
ในกรณีการซื้อขายทรัพย์สินของกิจการ/ธุรกิจ
ในกรณีการซื้อขายทรัพย์สินทางปัญญาของกิจการ/ธุรกิจ
ในกรณีการโอนสิทธิการเช่า
ในกรณีการโอนสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ (เช่น การโอนหนี้ที่ลูกค้าติดค้างเจ้าของกิจการเดิมให้เจ้าของกิจการรายใหม่/ผู้ซื้อกิจการ)
ในกรณีการซื้อตัวพนักงาน
ในกรณีกิจการ/ธุรกิจอยู่ภายใต้การควบคุมของกฎหมายเฉพาะ (เช่น กิจการโรงแรม หอพัก ธุรกิจนำเที่ยว กิจการร้านอาหาร/ภัตตาคาร ธุรกิจจำหน่ายสุรา/ยาสูบ โรงเรียน บริการสปา ร้านขายยา คลินิก โรงพยาบาล โรงงาน)
- กฎหมายเฉพาะที่ควบคุมการประกอบกิจการ/ธุรกิจนั้นๆ แล้วแต่กรณี
ความช่วยเหลือจากทนายความ
คุณสามารถเลือกที่จะปรึกษาทนายความได้ในกรณีที่คุณต้องการความช่วยเหลือ
ทนายความสามารถช่วยคุณได้โดยทำการตอบคำถามของคุณหรือให้ความช่วยเหลือในกระบวนการต่าง ๆ จะมีการเสนอตัวเลือกดังกล่าวไว้ให้คุณในตอนท้ายของเอกสาร
แก้ไขแบบฟอร์มได้อย่างไร
คุณกรอกแบบสอบถามสำหรับป้อนข้อมูลแล้วจะเห็นได้ว่าระบบของเราจะค่อย ๆ สร้างเอกสารขึ้นเองโดยอัตโนมัติตามคำตอบที่คุณกรอกเข้าไป
ในตอนสุดท้าย คุณจะได้รับเอกสารในรูปแบบ Word และ PDF คุณสามารถแก้ไขและนำเอกสารไปใช้อีกได้