ถูกละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ต้องทำอย่างไร?

ปรับปรุงล่าสุด ปรับปรุงล่าสุด7 กันยายน 2021
คะแนน คะแนน 5 - 5 คะแนนโหวต

ในหลายครั้งที่ผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญา ไม่ว่าจะเป็น

  • เจ้าของเครื่องหมายการค้า เช่น ตรา ยี่ห้อ ชื่อสินค้า บริการ หรือกิจการ
  • ผู้สร้างสรรค์งานอันมีลิขสิทธิ์ เช่น รูปภาพ บทความ เนื้อหา เสียงเพลง โปรแกรมคอมพิวเตอร์ วิดีโอภาพเคลื่อนไหว หรือสื่อผสมต่างๆ
  • ผู้ทรงสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตร เช่น สิ่งประดิษฐ์ ผลิตภัณฑ์ กรรมวิธี หรือการออกแบบที่ขึ้นทะเบียนสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตรไว้แล้ว
  • เจ้าของความลับทางการค้า เช่น สูตรอาหาร สูตรการผลิตที่เป็นความลับ

พบการกระทำละเมิดต่อทรัพย์สินทางปัญญาของตน แต่ก็ไม่รู้จะต้นเริ่มอย่างไร เพียงแต่รู้ว่าจะต้องดำเนินการให้บุคคลผู้ละเมิดนั้นยุติการละเมิดซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายให้ได้ เช่น

  • การละเมิดเครื่องหมายการค้า เช่น การลอกเลียนแบบตรา ยี่ห้อ ชื่อสินค้า บริการ หรือกิจการ
  • การละเมิดลิขสิทธิ์ เช่น การนำรูปภาพ บทความ เนื้อหา เสียงเพลง โปรแกรมคอมพิวเตอร์ วิดีโอภาพเคลื่อนไหว หรือสื่อผสมต่างๆ ไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต หรือนำไปใช้นอกเหนือจากวัตถุประสงค์ที่อนุญาต
  • การละเมิดสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตร เช่น การลอกเลียนแบบสิ่งประดิษฐ์ ผลิตภัณฑ์ กรรมวิธี หรือการออกแบบที่ขึ้นทะเบียนสิทธิบัตรไว้แล้ว หรือสินค้าปลอม
  • การละเมิดความลับทางการค้า เช่น การนำสูตรอาหาร สูตรการผลิตที่เป็นความลับไปใช้ หรือเปิดเผยโดยไม่ได้รับอนุญาต

ในคู่มือทางกฎหมายฉบับนี้ จะแนะนำขั้นตอนการดำเนินการต่างๆ ตามลำดับเมื่อพบเห็นหรือทราบว่าทรัพย์สินทางปัญญาของตนถูกละเมิด โดยผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาอาจพิจารณาดำเนินการตามแนวทาง ดังต่อไปนี้

(1) สืบหาข้อเท็จจริง

เมื่อผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาพบเห็นหรือทราบว่าทรัพย์สินทางปัญญาของตนถูกละเมิด ไม่ว่าจะเป็นการพบเห็นการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาด้วยต้นเอง หรือได้รับแจ้งเบาะแสจากบุคคลผู้หวังดีจากหนังสือแจ้งเบาะแสการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ก็ตาม ผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาอาจพิจารณาสืบหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเกี่ยวกับการกระทำละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาดังกล่าวนั้น เช่น

  • ผู้ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา เช่น ชื่อ นามสกุล ชื่อร้าน หรือชื่อบัญชีผู้ใช้งาน ในกรณีพบการละเมิดบนเว็บไซต์ หรือทางอิเล็กทรอนิกส์ ของผู้ลอกเลียนแบบตรา/ยี่ห้อสินค้า ผู้ผลิต/จำหน่ายสินค้าที่ละเมิดลิขสิทธิ์ ผู้ใช้รูปภาพหรือโปรแกรมโดยไม่ได้รับอนุญาต
  • ทรัพย์สินทางปัญญาที่ถูกละเมิด เช่น ชนิด ประเภท ลักษณะของทรัพย์สินทางปัญญาใดบ้างที่ถูกละเมิด
  • สถานที่/เว็บไซต์ที่พบการละเมิด เช่น ตำแหน่งที่ตั้งของสถานที่ หรือที่อยู่ URLs/Links ในกรณีพบการละเมิดบนเว็บไซต์ หรือทางอิเล็กทรอนิกส์
  • ช่วงระยะเวลาที่พบการละเมิด เช่น วันที่และเวลาเกิดการกระทำละเมิด
  • รายละเอียดการกระทำละเมิด เช่น พฤติกรรม หรือเหตุการณ์ที่ผู้ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญากระทำการละเมิดต่อทรัพย์สินทางปัญญา

(2) ตรวจสอบการละเมิด

นอกจากผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาจะดำเนินการสืบหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมจนได้ความชัดเจนเป็นที่น่าพอใจแล้ว ผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาควรตรวจสอบให้แน่ใจว่า การกระทำ พฤติกรรม หรือเหตุการณ์ดังกล่าวนั้นเป็นการกระทำละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาที่ผิดกฎหมาย เนื่องจากในบางกรณี บุคคลดังกล่าวนั้นอาจมีสิทธิใช้ทรัพย์สินทางปัญญาโดยชอบด้วยกฎหมาย ก็ได้ เช่น

  • ผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาได้เคยอนุญาตให้บุคคลดังกล่าวใช้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาดังกล่าวก่อนหน้า เช่น สัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ หนังสือยินยอมให้ใช้ทรัพย์สินทางปัญญา
  • บุคคลดังกล่าวนั้นใช้ทรัพย์สินทางปัญญาโดยเป็นไปตามข้อยกเว้นของกฎหมาย เช่น การใช้ทรัพย์สินทางปัญญาตามหลักการใช้ลิขสิทธิ์อย่างเป็นธรรม (Fair Use)

หลักการใช้ลิขสิทธิ์อย่างเป็นธรรม (Fair Use) คือ หลักกฎหมายที่เปิดโอกาสให้บุคคลอื่นสามารถใช้งานอันมีลิขสิทธิ์ได้ โดยที่ไม่ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ เช่น การนำงานอันมีลิขสิทธิ์นั้นไปใช้เพื่อการศึกษา ค้นคว้า วิจัยส่วนบุคคลที่ไม่ได้ทำเพื่อการหากำไร/เชิงพาณิชย์ โดยที่ไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิอันชอบด้วยกฎหมายของเจ้าของลิขสิทธิ์เกินสมควร

(3) เก็บและรวบรวมหลักฐาน

เมื่อผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาตรวจสอบจนเป็นที่แน่ใจแล้วว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาก็ควรจัดเก็บและรวบรวมหลักฐานการกระทำละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาดังกล่าวของผู้ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญานั้นเอาไว้ เพื่อใช้ในการดำเนินการขั้นต่างๆ ต่อไปโดยหลักฐานการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา เช่น

  • ภาพถ่ายพฤติกรรมหรือเหตุการณ์ที่ผู้กระทำการละเมิดกระทำการละเมิดต่อทรัพย์สินทางปัญญา
  • ภาพวิดีโอบันทึกพฤติกรรมหรือเหตุการณ์ที่ผู้กระทำการละเมิดกระทำการละเมิดต่อทรัพย์สินทางปัญญา
  • เสียงบันทึกพฤติกรรมหรือเหตุการณ์ที่ผู้กระทำการละเมิดกระทำการละเมิดต่อทรัพย์สินทางปัญญา

(4) จัดเตรียมและรวบรวมหลักฐานความเป็นเจ้าของ

นอกจากนี้ ผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญายังควรจัดเตรียมและรวบรวมเอกสารหลักฐานที่แสดงความเป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญา หรือผู้ทรงสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาดังกล่าวนั้นด้วย เพื่อใช้อ้างอิงในการดำเนินการขั้นถัดไป เช่น การแจ้งความร้องทุกข์ การฟ้องร้องดำเนินคดีต่อศาล การเจรจาประนีประนอมยอมความ โดยที่เอกสารหลักฐานที่แสดงความเป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญา หรือผู้ทรงสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา เช่น

(5) บอกกล่าวเป็นลายลักษณ์อักษร

เมื่อผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญา สืบหาข้อเท็จจริง ตรวจสอบการละเมิด เก็บและรวบรวมหลักฐาน จนเป็นที่น่าพอใจแล้ว ผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาอาจพิจารณาจัดทำหนังสือบอกกล่าวเป็นลายลักษณ์อักษรจัดส่งไปยังไปผู้ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา โดยการบอกกล่าวเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อดำเนินการ ดังต่อไปนี้

  • แจ้ง บอกกล่าว และตักเตือนไปยังผู้ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ให้หยุดหรือยุติการกระทำละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาภายในระยะเวลาที่หนด
  • เรียกร้องค่าเสียหาย (ถ้ามี) เช่น รายละเอียดความเสียหาย จำนวนเงินค่าเสียหาย กำหนดเวลาชำระค่าเสียหาย
  • สงวนสิทธิ์ของผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาโดยชอบธรรมตามกฎหมายด้วย

ในการบอกกล่าวเป็นลายลักษณ์อักษร ผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาอาจเลือกใช้ หนังสือบอกกล่าวให้ยุติการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งถูกร่างขึ้นสำหรับใช้ในกรณีที่ เจ้าของทรัพย์สินทางปัญญา หรือผู้ทรงสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาต้องการจะแจ้ง บอกกล่าว และตักเตือนไปยังผู้ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาให้หยุดหรือยุติการกระทำละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา

(6) ดำเนินการขั้นต่อไป/ขั้นเด็ดขาด

เมื่อปรากฏว่าผู้ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ยังคงไม่ปฏิบัติตามหนังสือบอกกล่าวเป็นลายลักษณ์อักษรที่ผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาได้จัดส่งไปยังไปผู้ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในเบื้องต้น (เช่น ยังคงไม่หยุดการกระทำละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ไม่ยอมชำระค่าเสียหายตามที่เรียกร้อง) ผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาอาจพิจารณาดำเนินการตามมาตรการหรือการดำเนินการขั้นต่อไป/ขั้นเด็ดขาดตามที่ได้ระบุไว้ในหนังสือบอกกล่าวให้ยุติการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาที่ได้จัดส่งไปยังไปผู้ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในเบื้องต้น เช่น การบอกกล่าวครั้งสุดท้าย การเรียกร้องค่าเสียหาย การแจ้งความร้องทุกข์ หรือการฟ้องร้องดำเนินคดีต่อศาล

(7) เจรจาต่อรอง

ก่อนการดำเนินคดีตามกฎหมายถึงที่สุด ผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาอาจใช้ความพยายามเจรจาต่อรองกับผู้ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา เนื่องจากตามกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในบางกรณีเป็นความผิดอาญาที่ไม่สามารถยอมความได้ (เช่น การละเมิดเครื่องหมายการค้า และการละเมิดสิทธิบัตร) กล่าวคือเมื่อได้ดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์แล้ว แม้ในภายหลัง ผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาจะไม่ติดใจเอาเรื่องกับผู้ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาแล้ว ไม่ว่าด้วยเหตุใดก็ตาม (เช่น เปลี่ยนใจ สงสาร หรือเจรจาตกลงกันได้ในภายหลัง) เจ้าพนักงานก็จะต้องดำเนินคดีความอาญานั้นต่อไปกับผู้ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาจนถึงที่สุด

โดยในการดำเนินการเจรจาต่อรอง ผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาอาจพิจารณาแนวทางการเจรจาต่อรอง หรือผ่อนผันให้ผู้ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ดังต่อไปนี้

  • ในกรณีที่ผู้ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาไม่สามารถชำระค่าเสียหายได้ทั้งหมดภายในคราวเดียว ผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาอาจพิจารณาให้แบ่งชำระค่าเสียหายหลายคราว ในกรณีเช่นนี้ ทั้ง 2 ฝ่ายควรพิจารณาจัดทำ สัญญาประนีประนอมยอมความ เพื่อเป็นหลักฐานด้วย
  • ในกรณีที่ผู้ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญายังมีความจำเป็นต้องใช้ทรัพย์สินทางปัญญานั้นต่อไป (เช่น ไม่สามารถหยุด/ยุติการละเมิดได้) หากเป็นไปได้ และไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญา ผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาอาจพิจารณาเรียกเก็บค่าสิทธิกับผู้ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาตลอดระยะเวลาที่บุคคลนั้นยังคงใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญาดังกล่าว โดย ผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาอาจพิจารณากำหนดเงื่อนไข ข้อจำกัด อาณาเขตพื้นที่ และระยะเวลาการใช้ทรัพย์สินทางปัญญาดังกล่าวนั้นด้วย ในกรณีเช่นนี้ ทั้ง 2 ฝ่ายควรพิจารณาจัดทำ สัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ หรือหนังสือยินยอมให้ใช้ทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อเป็นหลักฐานด้วย

(8) ดำเนินคดีตามกฎหมายถึงที่สุด

เนื่องจากการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาเป็นความผิดอาญา ผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาอาจพิจารณาดำเนินการตามมาตรการหรือการดำเนินการขั้นต่อไป/ขั้นเด็ดขาดโดยการเริ่มดำเนินคดีความตามกฎหมายอีกทางหนึ่งก็ได้ (เช่น แจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงาน) ในกรณีเช่นนี้ จะมีเจ้าพนักงาน (เช่น เจ้าหน้าที่ตำรวจ พนักงานเจ้าหน้าที่สำนักป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาที่มีอำนาจ) เข้ามาเกี่ยวข้องและดำเนินการต่างๆ ตามขั้นตอนของกฎหมาย เช่น

  • การตรวจค้นสถานที่มีละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา
  • การจับกุมตัวผู้ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา
  • การฟ้องร้องดำเนินคดีอาญาและคดีแพ่งในชั้นศาล
  • การบังคับคดีตามคำพิพากษา

ในการดำเนินคดีตามกฎหมาย ไม่ว่าการแจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงาน หรือการฟ้องร้องดำเนินคดีแพ่งในชั้นศาล ผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญา อาจจัดเตรียมและจัดทำ หนังสือมอบอำนาจ เพื่อมอบหมายให้ตัวแทนของตนดำเนินการ (เช่น ผู้จัดการฝ่ายกฎหมาย) หรือหนังสือแต่งตั้งทนายความ เพื่อแต่ตั้งทนายความดำเนินคดีตามกฎหมาย

สรุป

การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย มีโทษทั้งทางแพ่ง และอาญา ผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาย่อมมีสิทธิที่จะให้ผู้ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาหยุด/ยุติการกระละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาได้ในทันที รวมถึงมีสิทธิที่จะได้รับการชดใช้เยียวหาจากผู้ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาหากการละเมิดดังกล่าวนั้นก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญา โดยกระบวนการและ/หรือวิธีการที่ผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาจะสงวนสิทธิ์ดังกล่าวก็มีตั้งแต่มาตรการเบาไปถึงหนัก ผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาอาจพิจารณาเลือกใช้ตามลำดับความเหมาะสมแก่พฤติการณ์และความเสียหาย

แบบฟอร์มและตัวอย่างต่าง ๆ ที่สามารถดาวน์โหลดได้ในรูปแบบ Word และ PDF

ให้คะแนนคู่มือฉบับนี้