หนังสือมอบอำนาจ กรอกแบบฟอร์ม

ต้องทำยังไงบ้าง

1. เลือกแบบฟอร์มนี้

เริ่มต้นโดยการคลิกที่ "กรอกแบบฟอร์ม"

1 / เลือกแบบฟอร์มนี้

2. กรอกเอกสาร

ตอบคำถามบางข้อแล้วเอกสารของคุณก็จะถูกสร้างขึ้นเองโดยอัตโนมัติ

2 / กรอกเอกสาร

3. บันทึก - พิมพ์

เอกสารของคุณพร้อมแล้ว คุณจะได้รับเอกสารดังกล่าวในรูปแบบ Word และ PDF ซึ่งคุณสามารถทำการแก้ไขได้

3 / บันทึก - พิมพ์

ตัวเลือกพิเศษสำหรับการปรึกษาทนายความ

คุณสามารถเลือกที่จะขอรับความช่วยเหลือจากทนายความได้หลังจากกรอกเอกสารเสร็จแล้ว

ตัวเลือกพิเศษสำหรับการปรึกษาทนายความ

หนังสือมอบอำนาจ

ปรับปรุงล่าสุด ปรับปรุงล่าสุด 16/09/2567
รูปแบบ รูปแบบWord และ PDF
ขนาด ขนาด2 หน้า
กรอกแบบฟอร์ม

ปรับปรุงล่าสุดปรับปรุงล่าสุด 16/09/2567

รูปแบบรูปแบบที่มีให้ Word และ PDF

ขนาดขนาด 2 หน้า

ตัวเลือก ความช่วยเหลือจากทนายความ

กรอกแบบฟอร์ม

หนังสือมอบอำนาจคืออะไร

หนังสือมอบอำนาจ หรือใบมอบอำนาจ คือ หนังสือที่ผู้มอบอำนาจจัดทำขึ้นเพื่อมอบอำนาจให้ผู้รับมอบอำนาจ ไม่ว่าคนเดียวหรือหลายคน เป็นผู้มีอำนาจดำเนินกิจธุระ/นิติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งแทนผู้มอบอำนาจ โดยผู้รับมอบอำนาจจะเป็นตัวแทนของผู้มอบอำนาจในการดำเนินกิจธุระ/นิติกรรมนั้นเพื่อและในนามของผู้มอบอำนาจ

การดำเนินกิจธุระ/นิติกรรมใดๆ ที่ผู้รับมอบอำนาจได้กระทำไปภายในขอบเขตที่ได้มอบอำนาจไว้นั้น ผู้มอบอำนาจย่อมผูกพันการดำเนินการนั้นๆ เสมือนว่าผู้มอบอำนาจเป็นผู้ดำเนินการนั้นเอง โดยที่กิจธุระ/นิติกรรมที่มอบอำนาจให้ดำเนินการแทน เช่น

  • การมอบอำนาจให้ปฏิบัติหน้าที่แทนในเรื่องทั่วไป
  • การดำเนินการทางธุรการ (เช่น การรับ/ส่งเอกสาร ขอคัดเอกสาร)
  • การมอบอำนาจให้บริหารจัดการงานของกิจการ
  • การมอบอำนาจให้เข้าเจรจาและเข้าทำสัญญา
  • การมอบอำนาจทางการเงินภายในองค์กร
  • การมอบอำนาจให้ดำเนินการติดต่อประสานงาน/จดทะเบียนกับหน่วยงานของรัฐต่างๆ
  • การมอบอำนาจให้ก่อภาระผูกพันในอสังหาริมทรัพย์/จัดการทรัพย์สิน
  • การมอบอำนาจให้เจรจาและตกลงประนีประนอมยอมความกับคู่พิพาท

หนังสือมอบอำนาจมีลักษณะใดบ้าง

หนังสือมอบอำนาจอาจแบ่งได้เป็น 2 ประเภท ตามลักษณะของการมอบอำนาจ ดังต่อไปนี้

  • หนังสือมอบอำนาจทั่วไป เป็นหนังสือมอบอำนาจที่มอบอำนาจและกำหนดขอบเขตการมอบอำนาจเอาไว้เป็นการทั่วไปเกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เช่น การมอบอำนาจให้บริหารจัดการร้านอาหาร ในกรณีเช่นนี้ ผู้รับมอบอำนาจย่อมอาจมีอำนาจดำเนินกิจธุระ/นิติกรรมใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการร้านอาหารดังกล่าวในนามของผู้มอบอำนาจ (เช่น การสั่งซื้อวัตถุดิบ การจัดหา/จัดจ้างพนักงาน การจ่ายค่าเช่า) ซึ่งมักเป็นการดำเนินการที่ต่อเนื่องเรื่อยไปจะกว่าการมอบอำนาจจะสิ้นสุดลงตามเงื่อนเวลา/เงื่อนไขที่ผู้มอบอำนาจกำหนดหรือโดยผลของกฎหมาย
  • หนังสือมอบอำนาจเฉพาะการ เป็นหนังสือมอบอำนาจที่มอบอำนาจและกำหนดขอบเขตการมอบอำนาจเอาไว้เป็นการเฉพาะในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เช่น การมอบอำนาจให้เจรจาและซื้อขายบ้าน เลขที่ 1/2 ตามโฉนดเลขที่ 123456 เท่านั้น ในกรณีเช่นนี้ ผู้รับมอบอำนาจย่อมอาจมีอำนาจดำเนินกิจธุระ/นิติกรรมการซื้อขายบ้านหลังดังกล่าวในนามของผู้มอบอำนาจ เท่านั้น ซึ่งหากการดำเนินการที่มอบอำนาจนั้นสำเร็จลุล่วงแล้ว การมอบอำนาจก็ย่อมสิ้นสุดลงโดยปริยาย

จำเป็นต้องทำหนังสือมอบอำนาจ หรือไม่

อาจจำเป็น ในกรณีที่กิจธุระ/นิติกรรมที่มอบอำนาจนั้นมีกฎหมายกำหนดไว้อย่างชัดเจนว่าต้องมีการทำเป็นหนังสือหรือต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ ในกรณีเช่นนี้ การมอบอำนาจให้ดำเนินกิจธุระ/นิติกรรมนั้นก็ต้องทำเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ดี เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาและข้อพิพาทในกรณีที่ผู้รับมอบอำนาจกระทำการ/ดำเนินการเกินขอบเขตอำนาจ และเพื่อความชัดเจนแก่บุคคลภายนอก/หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้มอบอำนาจจึงควรจัดทำหนังสือมอบอำนาจเป็นหนังสือซึ่งมีข้อกำหนดเกี่ยวกับการมอบอำนาจ/ขอบเขตอำนาจอย่างชัดเจนและลงลายมือชื่อของผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจให้ครบถ้วน ไม่ว่าในกรณีใดๆ

ต้องระบุข้อมูลสำคัญใดบ้างลงในหนังสือมอบอำนาจ

ผู้มอบอำนาจควรระบุรายละเอียดและข้อความสำคัญในหนังสือมอบอำนาจ ดังต่อไปนี้

  • ผู้มอบอำนาจ เช่น ชื่อ ที่อยู่ เพื่อการอ้างอิงที่ถูกต้อง
  • ผู้รับมอบอำนาจ เช่น ชื่อ ที่อยู่ เพื่อการอ้างอิงที่ถูกต้อง โดยผู้รับมอบอำนาจอาจมีคนเดียวหรือหลายคน แยกกันหรือร่วมกันกระทำการ/ดำเนินการก็ได้
  • การมอบอำนาจ เช่น กิจธุระ/นิติกรรมที่มอบอำนาจ ขอบเขต/ข้อจำกัดการมอบอำนาจ
  • ระยะเวลาการมอบอำนาจ เช่น กำหนดระยะเวลาการเริ่มต้นและสิ้นสุดการมอบอำนาจ หรือเงื่อนไข (เช่น เหตุการณ์) การเริ่มต้นและสิ้นสุดการมอบอำนาจ
  • ค่าตอบแทน (ถ้ามี) เช่น บำเหน็จ ค่าใช้จ่ายที่ผู้รับมอบอำนาจสำรองจ่าย/ทดรองจ่ายไประหว่างการดำเนินกิจธุระ/นิติกรรม
  • ข้อกำหนดอื่นๆ (ถ้ามี) เช่น การมอบอำนาจช่วง

ไม่ควรระบุ/กำหนดข้อมูลลักษณะใดลงในหนังสือมอบอำนาจ

ผู้มอบอำนาจไม่ควรระบุ/กำหนดการมอบอำนาจในกิจธุระ/นิติกรรมที่มีลักษณะต้องอาศัยคุณสมบัติ/ความสามารถเฉพาะตัวของผู้มอบอำนาจเป็นการเฉพาะซึ่งอาจไม่สามารถมอบอำนาจให้บุคคลอื่นไปดำเนินการหรือกระทำการแทนได้ เช่น

  • การมอบอำนาจให้บุคคลอื่นเข้าร่วมประชุมกรรมการบริษัทในฐานะกรรมการแทนตนเอง
  • การมอบอำนาจให้บุคคลอื่นเข้าทำข้อสอบสมัครเข้าทำงานแทนตนเอง

จำเป็นจะต้องดำเนินการอย่างไรก่อนทำหนังสือมอบอำนาจ

ผู้มอบอำนาจไม่จำเป็นจะต้องดำเนินการใดๆ ก่อนตามกฎหมายในการจัดทำหนังสือมอบอำนาจ

อย่างไรก็ดี ก่อนการจัดทำหนังสือมอบอำนาจ ผู้มอบอำนาจอาจมีข้อพิจารณาในการแต่งตั้งผู้รับมอบอำนาจ โดยผู้มอบอำนาจควรคำนึงถึงความรู้ ความสามารถ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ ทักษะ ความรอบคอบ และวิจารณญาณของผู้รับมอบอำนาจให้เหมาะสมกับกิจธุระ/นิติกรรมที่จะมอบอำนาจ เนื่องจากในบางกรณี โดยเฉพาะการมอบอำนาจทั่วไปหรือในกรณีเหตุฉุกเฉิน เพื่อให้การดำเนินกิจธุระ/นิติกรรมที่มอบอำนาจให้สำเร็จลุล่วงได้นั้น อาจจำเป็นต้องอาศัยวิจารณญาณของผู้รับมอบอำนาจในการตัดสินใจ/การดำเนินการเฉพาะหน้าที่นอกเหนือไปจากแนวทางที่ผู้มอบอำนาจได้ให้ไว้

หนังสือมอบอำนาจเกี่ยวข้องกับใครบ้าง

บุคคลที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำหนังสือมอบอำนาจ ได้แก่

  • ผู้มอบอำนาจ ตัวแทนผู้มีอำนาจของผู้มอบอำนาจ (เช่น กรรมการ หุ้นส่วนผู้จัดการ) หรือตัวแทนที่ผู้มอบอำนาจมอบหมายให้รับผิดชอบเกี่ยวกับการดำเนินกิจธุระ/นิติกรรมนั้นๆ (เช่น ผู้จัดการ/ผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร) ซึ่งเป็นผู้จัดทำและลงนามในหนังสือมอบอำนาจในฐานะผู้มอบอำนาจ/ตัวการ
  • ผู้รับมอบอำนาจซึ่งเป็นผู้ลงนามในหนังสือมอบอำนาจในฐานะผู้รับมอบอำนาจ/ตัวแทน และเป็นผู้ไปดำเนินกิจธุระ/นิติกรรมนั้นๆ เพื่อและในนามของผู้มอบอำนาจ
  • บุคคล/หน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ผู้รับมอบอำนาจไปดำเนินกิจธุระ/นิติกรรมนั้นๆ เช่น คู่สัญญาของนิติกรรมที่มอบอำนาจ หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับกิจธุระ/นิติกรรมที่มอบอำนาจ

จะต้องทำอย่างไรต่อหลังจากที่ลงนามในหนังสือมอบอำนาจแล้ว

ผู้มอบอำนาจจัดทำหนังสือมอบอำนาจเป็นลายลักษณ์อักษร และให้ผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจ รวมถึงพยาน (ถ้ามี) ลงนามในหนังสือมอบอำนาจฉบับดังกล่าวให้เรียบร้อย

เมื่อจัดทำและลงนามในหนังสือมอบอำนาจเรียบร้อยแล้ว ผู้มอบอำนาจอาจพิจารณาดำเนินการ ดังต่อไปนี้

  • ผู้มอบอำนาจอาจจัดเก็บสำเนาหนังสือมอบอำนาจนั้นไว้เพื่อเก็บไว้ใช้อ้างอิงเป็นหลักฐาน
  • ผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจนำเอกสารแสดงตัวตนของทั้ง 2 ฝ่ายที่ลงนามรับรองสำเนาถูกต้องมาเก็บไว้ประกอบแนบหนังสือมอบอำนาจ เช่น บัตรประจำตัวประชาชน หนังสือเดินทาง หนังสือรับรองและบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคล (กรณีนิติบุคคล)
  • ผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจนำหนังสือมอบอำนาจที่ลงนามเรียบร้อยแล้วไปชำระอากรแสตมป์ตามอัตรา ระยะเวลา และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด เนื่องจากหนังสือมอบอำนาจและคู่ฉบับ ถือเป็นตราสารที่กฎหมายกำหนดให้ต้องชำระอากรแสตมป์
  • ผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจนำส่งหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวให้แก่บุคคล/หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปใช้อ้างอิงต่อไป (เช่น แนบประกอบสัญญา แนบประกอบคำขอจดทะเบียนกับหน่วยงานของรัฐ)

จะต้องแนบหลักฐานหรือเอกสารประกอบหนังสือมอบอำนาจด้วย หรือไม่

ผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจอาจพิจารณาแนบเอกสารแสดงตัวตนของทั้ง 2 ฝ่ายที่ลงนามรับรองสำเนาถูกต้องมาเก็บไว้ประกอบแนบหนังสือมอบอำนาจ เช่น

  • บัตรประจำตัวประชาชน
  • หนังสือเดินทาง
  • หนังสือรับรองและบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคล (กรณีนิติบุคคล)

หนังสือมอบอำนาจจำเป็นจะต้องได้การรับรองลายมือชื่อหรือรับรองเอกสารจากหน่วยงานของรัฐหรือทนายความที่ขึ้นทะเบียน (Notary Public) หรือไม่

อาจจำเป็น ขึ้นอยู่กับกิจธุระ/นิติกรรมที่มอบอำนาจนั้นและ/หรือข้อกำหนดของหน่วยงานที่ผู้รับมอบอำนาจจะนำหนังสือมอบอำนาจไปใช้อ้างอิง เช่น

  • ในกรณีที่ผู้มอบอำนาจมอบอำนาจให้ผู้รับมอบอำนาจไปดำเนินกิจธุระ/นิติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งในต่างประเทศ และหน่วยงานของรัฐในประเทศนั้นๆ กำหนดให้หนังสือมอบอำนาจจำเป็นจะต้องได้การรับรองลายมือชื่อหรือรับรองเอกสารจากหน่วยงานของรัฐ (เช่น สถานกงสุลไทย) หรือทนายความที่ขึ้นทะเบียน (Notary Public) เพื่อเป็นไปตามกฎหมายของประเทศนั้นๆ
  • ในกรณีที่ผู้มอบอำนาจมอบอำนาจให้ผู้รับมอบอำนาจไปดำเนินกิจธุระ/นิติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งในต่างประเทศ และคู่สัญญาของนิติกรรมนั้นๆ ซึ่งอยู่ต่างประเทศต้องการ/ร้องขอให้หนังสือมอบอำนาจจำเป็นจะต้องได้การรับรองลายมือชื่อหรือรับรองเอกสารจากหน่วยงานของรัฐ (เช่น สถานกงสุลไทย) หรือทนายความที่ขึ้นทะเบียน (Notary Public) เพื่อความมั่นใจของคู่สัญญาและ/หรือเพื่อเป็นไปตามกฎหมายของประเทศนั้นๆ

หนังสือมอบอำนาจจำเป็นจะต้องจดทะเบียนกับหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง หรือไม่

ไม่จำเป็น ผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจไม่จำเป็นจะต้องดำเนินการจดทะเบียนกับหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องใดๆ ในการจัดทำหนังสือมอบอำนาจ

อย่างไรก็ดี ในกรณีที่ผู้มอบอำนาจมอบอำนาจให้ผู้รับมอบอำนาจไปดำเนินการจดทะเบียนกับหน่วยงานของรัฐแทนตน (เช่น การจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์กับกรมที่ดิน การจดทะเบียนสิทธิการเช่ากับกรมที่ดิน การจดทะเบียนนิติบุคคลกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า) ในกรณีเช่นนี้ ผู้รับมอบอำนาจอาจจำเป็นต้องนำส่งหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวให้แก่หน่วยงานรัฐนั้นๆ เพื่อนำไปใช้อ้างอิงประกอบการจดทะเบียนต่อไป (เช่น แนบประกอบคำขอจดทะเบียนกับหน่วยงานของรัฐ)

หนังสือมอบอำนาจจำเป็นจะต้องมีพยานลงนามด้วย หรือไม่

ไม่จำเป็น กฎหมายไม่ได้กำหนดให้หนังสือมอบอำนาจจำเป็นจะต้องมีพยานลงนามด้วย

อย่างไรก็ดี ผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจอาจพิจารณาจัดให้มีพยานลงนามในหนังสือมอบอำนาจตามที่เห็นสมควรและ/หรือตามที่บุคคล/หน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ผู้รับมอบอำนาจจะต้องไปดำเนินกิจธุระ/นิติกรรมนั้นๆ ร้องขอ (ถ้ามี) ในกรณีเช่นนี้ พยานควรเป็นบุคคลผู้มีความสามารถในการทำนิติกรรมอย่างสมบูรณ์ (เช่น ผู้บรรลุนิติภาวะ อายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ ไม่เป็นบุคคลวิกลจริตหรือบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นผู้เสมือนไร้ความสามารถ ไม่เป็นผู้ทุพพลภาพ) และไม่ใช่บุคคลที่มีหน้าที่/ภาระผูกพันตามหนังสือมอบอำนาจ (เช่น ผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจ)

มีค่าใช้จ่ายใดบ้างที่เกี่ยวข้องในการจัดทำหนังสือมอบอำนาจ

ผู้มอบอำนาจอาจมีค่าใช้จ่ายที่ต้องพิจารณาจัดเตรียมในการจัดทำหนังสือมอบอำนาจ ดังต่อไปนี้

  • อากรแสตมป์ เนื่องจากหนังสือมอบอำนาจและคู่ฉบับเป็นตราสารที่กฎหมายกำหนดให้ต้องชำระอากรแสตมป์ ผู้มอบอำนาจจึงมีหน้าที่นำหนังสือมอบอำนาจที่ลงนามเรียบร้อยแล้วไปชำระอากรแสตมป์ตามอัตรา ระยะเวลา และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด โดยขึ้นอยู่กับลักษณะของการมอบอำนาจและจำนวนผู้รับมอบอำนาจ ในกรณีที่ไม่ชำระอากร ศาลจะไม่รับฟังตราสารที่ไม่ได้ชำระอากรโดยสมบูรณ์เป็นพยานหลักฐาน อีกทั้ง ยังมีค่าปรับการไม่ชำระอากรแสตมป์ และอาจมีโทษทางอาญาอีกด้วย
  • บำเหน็จผู้รับมอบอำนาจ (ถ้ามี) โดยผู้มอบอำนาจอาจกำหนดให้ผู้รับมอบอำนาจมีสิทธิได้รับบำเหน็จ/ค่าตอบแทนด้วย หรือไม่ ก็ได้
  • ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการดำเนินกิจธุระ/นิติกรรมที่มอบอำนาจ (ถ้ามี) เช่น ค่าใช้จ่ายที่ผู้รับมอบอำนาจสำรองจ่าย/ทดรองจ่ายไประหว่างการดำเนินกิจธุระ/นิติกรรมที่มอบอำนาจ เพื่อให้กิจธุระ/นิติกรรมที่มอบอำนาจนั้นสำเร็จลุล่วง (เช่น ค่าเดินทาง ค่าธรรมเนียมราชการ)

ผู้รับมอบอำนาจสามารถมอบอำนาจช่วงให้บุคคลอื่นดำเนินการแทนตนต่ออีกได้ หรือไม่

โดยทั่วไป ในการดำเนินดำเนินกิจธุระ/นิติกรรมที่ได้รับมอบอำนาจนั้น ผู้รับมอบย่อมต้องดำเนินการด้วยตัวผู้รับมอบอำนาจเอง เท่านั้น

อย่างไรก็ดี ผู้มอบอำนาจอาจกำหนดให้สิทธิผู้รับมอบอำนาจสามารถมอบอำนาจช่วงต่อให้บุคคลอื่นดำเนินกิจธุระ/นิติกรรมนั้นแทนผู้รับมอบอำนาจด้วยก็ได้ ในกรณีเช่นนี้

  • จะเรียกผู้รับมอบอำนาจที่รับมอบอำนาจต่อจากผู้รับมอบอำนาจลำดับแรกว่า ผู้รับมอบอำนาจช่วง
  • ผู้มอบอำนาจจะยังคงต้องผูกพันการดำเนินการใดๆ ที่ผู้รับมอบอำนาจช่วงได้กระทำไปในขอบเขตอำนาจนั้นด้วยเช่นกัน

ผู้รับมอบอำนาจสามารถดำเนินการที่ขัดผลประโยชน์ต่อผู้มอบอำนาจ (Conflict of Interest) ได้ หรือไม่

ผู้รับมอบอำนาจจะดำเนินกิจธุระ/นิติกรรมไปในลักษณะที่มีผลประโยชน์ขัดกัน (Conflict of Interest) ระหว่างผลประโยชน์ของผู้มอบอำนาจและผลประโยชน์ส่วนตัวของผู้รับมอบอำนาจไม่ได้ เว้นแต่ ผู้มอบอำนาจยินยอม/รับรองในการดำเนินการดังกล่าว

ตัวอย่าง ผู้รับมอบอำนาจได้รับมอบอำนาจจากผู้มอบอำนาจให้สรรหา จัดหา และมีอำนาจจัดซื้อที่ดิน และในขณะเดียวกันผู้รับมอบอำนาจก็เป็นผู้ขายที่ดินดังกล่าวให้แก่ผู้มอบอำนาจ โดยผู้รับมอบอำนาจจะเป็นทั้งผู้ดำเนินการทำสัญญาซื้อขายที่ดินกับตนเองในนามผู้มอบอำนาจในฐานะตัวแทน/ผู้รับมอบอำนาจฝ่ายหนึ่งและในฐานะผู้ขายที่ดินอีกฝ่ายหนึ่ง ในกรณีเช่นนี้ ผู้มอบอำนาจต้องให้ความยินยอม/รับรองในการเข้าทำสัญญาซื้อขายที่ดินดังกล่าว


จะเกิดอะไรขึ้นหากผู้รับมอบอำนาจดำเนินการเกินขอบเขตที่ได้รับมอบอำนาจ

ในการดำเนินกิจธุระ/นิติกรรมที่มอบอำนาจตามหนังสือมอบอำนาจ ผู้รับมอบอำนาจจะต้องดำเนินการในลักษณะ ดังต่อไปนี้

  • ผู้รับมอบอำนาจจะต้องดำเนินการภายในขอบเขตที่ได้รับมอบอำนาจ เท่านั้น
  • ผู้รับมอบอำนาจจะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามคำสั่งและเจตนารมณ์ของผู้มอบอำนาจ
  • ผู้รับมอบอำนาจจะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรฐานที่บุคคลในระดับเดียวกันพึงกระทำ

ในกรณีที่ผู้รับมอบอำนาจกระทำการเกินขอบเขตอำนาจที่ได้รับมอบไว้ การกระทำส่วนที่เกินขอบเขตนั้นย่อมไม่ผูกพันผู้มอบอำนาจแต่จะผูกพันตัวผู้รับมอบอำนาจเสียเองซึ่งผู้รับมอบอำนาจจะต้องรับผิดชอบและผูกพันการนั้นเอง เว้นแต่ ผู้มอบอำนาจจะได้ให้สัตยาบันหรือให้การรับรองในภายหลัง

นอกจากนี้ ผู้รับมอบอำนาจยังต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายใดๆ ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินกิจธุระ/นิติกรรมนั้น ในกรณี ดังต่อไปนี้

  • ผู้รับมอบอำนาจดำเนินกิจธุระ/นิติกรรมนั้นโดยเกินขอบเขตที่ได้รับมอบอำนาจ
  • ผู้รับมอบอำนาจดำเนินกิจธุระ/นิติกรรมนั้นด้วยความประมาทเลินเล่อ
  • ผู้รับมอบอำนาจไม่ปฏิบัติหน้าที่/ไม่ดำเนินกิจธุระ/นิติกรรมตามที่ตนได้รับมอบอำนาจ

กฎหมายใดบ้างที่เกี่ยวข้องกับหนังสือมอบอำนาจ

กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำหนังสือมอบอำนาจมี ดังต่อไปนี้

ความช่วยเหลือจากทนายความ

คุณสามารถเลือกที่จะปรึกษาทนายความได้ในกรณีที่คุณต้องการความช่วยเหลือ

ทนายความสามารถช่วยคุณได้โดยทำการตอบคำถามของคุณหรือให้ความช่วยเหลือในกระบวนการต่าง ๆ จะมีการเสนอตัวเลือกดังกล่าวไว้ให้คุณในตอนท้ายของเอกสาร

แก้ไขแบบฟอร์มได้อย่างไร

คุณกรอกแบบสอบถามสำหรับป้อนข้อมูลแล้วจะเห็นได้ว่าระบบของเราจะค่อย ๆ สร้างเอกสารขึ้นเองโดยอัตโนมัติตามคำตอบที่คุณกรอกเข้าไป

ในตอนสุดท้าย คุณจะได้รับเอกสารในรูปแบบ Word และ PDF คุณสามารถแก้ไขและนำเอกสารไปใช้อีกได้

กรอกแบบฟอร์ม