สัญญาบริการจัดเลี้ยงนอกสถานที่คืออะไร
สัญญาบริการจัดเลี้ยงนอกสถานที่ หรือสัญญาว่าจ้างจัดเลี้ยงอาหารและเครื่องดื่ม (Catering Agreement) คือ สัญญาซึ่งมีคู่สัญญา 2 ฝ่าย ได้แก่ ผู้ว่าจ้าง (เช่น ผู้จัดงาน เจ้าของงานเลี้ยง เจ้าของพิธีการ เจ้าภาพงาน) และผู้รับจ้าง (เช่น ผู้รับจัดเลี้ยง ผู้ให้บริการจัดเลี้ยงอาหาร ร้านอาหาร) โดยที่ ผู้ว่าจ้างตกลงว่าจ้างให้ผู้รับจ้างดำเนินการจัดหา จัดเตรียม ประกอบ และจัดให้มีอาหารและ/หรือเครื่องดื่มสำหรับผู้ร่วมงาน/แขกในงานต่างๆ ที่ผู้ว่าจ้างจัดขึ้น เช่น
- การจัดงานเลี้ยงสังสรรค์ทั่วไป เช่น บริการจัดเลี้ยงอาหาร/เครื่องดื่มงานเลี้ยงปีใหม่ บริการจัดเลี้ยงอาหาร/เครื่องดื่มงานฉลองวันเกิด
- การจัดงานพิธีมงคล เช่น บริการจัดเลี้ยงอาหาร/เครื่องดื่มงานหมั้น บริการจัดเลี้ยงอาหาร/เครื่องดื่มงานแต่งงาน/สมรส
- การจัดงานพิธีกรรม/ประเพณีทางศาสนา เช่น บริการจัดเลี้ยงอาหาร/เครื่องดื่มงานทำบุญขึ้นบ้านใหม่ บริการจัดเลี้ยงอาหาร/เครื่องดื่มงานทำบุญวันสงกรานต์ บริการจัดเลี้ยงอาหาร/เครื่องดื่มงานทำบุญเลี้ยงพระในโอกาสต่างๆ
สัญญาบริการจัดเลี้ยงนอกสถานที่มีลักษณะใดบ้าง
สัญญาบริการจัดเลี้ยงอาจแบ่งตามรูปแบบการจัดเลี้ยงอาหาร/เครื่องดื่มได้ ดังต่อไปนี้
- สัญญาบริการจัดเลี้ยงโต๊ะจีน เช่น การจัดเลี้ยงอาหาร/เครื่องดื่มในรูปแบบโต๊ะจีน
- สัญญาบริการจัดเลี้ยงบุฟเฟต์ เช่น การจัดเลี้ยงอาหาร/เครื่องดื่มในรูปแบบบุฟเฟต์
โดยรูปแบบการจัดเลี้ยงอาหาร/เครื่องดื่มตามสัญญาบริการจัดเลี้ยงอาจดำเนินการตามความนิยม ประเพณี บริบทของงาน และความต้องการของผู้จัดงาน/ผู้ว่าจ้าง
สัญญาบริการจัดเลี้ยงและสัญญาบริการแตกต่างกัน อย่างไร
สัญญาบริการจัดเลี้ยงและสัญญาบริการต่างก็เป็นสัญญาที่ผู้รับจ้าง/ผู้ให้บริการจัดให้มีการให้บริการต่างๆ แก่ผู้ว่าจ้างเหมือนกัน
อย่างไรก็ดี สัญญาบริการจัดเลี้ยงและสัญญาบริการมีความแตกต่างกัน โดยที่
- สัญญาบริการจัดเลี้ยงฉบับนี้ถูกร่างขึ้นโดยมีข้อความและข้อสัญญาสำหรับการให้บริการจัดเลี้ยงอาหาร/เครื่องดื่มนอกสถานที่โดยเฉพาะ
- สัญญาบริการถูกร่างขึ้นโดยมีข้อความและข้อสัญญาสำหรับการให้บริการทั่วไป (เช่น การว่าจ้างทำงานหรือให้บริการอย่างอื่นซึ่งไม่ใช่การจัดเลี้ยงอาหาร/เครื่องดื่ม)
จำเป็นต้องทำสัญญาบริการจัดเลี้ยง หรือไม่
ไม่จำเป็น กฎหมายไม่ได้กำหนดให้คู่สัญญาต้องจัดทำสัญญาบริการจัดเลี้ยงเป็นลายลักษณ์อักษร
อย่างไรก็ดี ในการให้บริการจัดเลี้ยงอาหาร/เครื่องดื่มย่อมมีรายละเอียดและข้อตกลงสำคัญที่คู่สัญญาอาจจำเป็นต้องกำหนดและตกลงร่วมกัน (เช่น ขอบเขตของบริการจัดเลี้ยง รายการอาหาร/เครื่องดื่ม ปริมาณและจำนวนอาหาร/เครื่องดื่มที่ต้องจัดเตรียม อัตราค่าบริการ หน้าที่/ความรับผิดชอบของคู่สัญญา) เพื่อรักษาผลประโยชน์และความเข้าใจที่ตรงกันของคู่สัญญาทั้ง 2 ฝ่าย คู่สัญญาจึงควรจัดทำสัญญาบริการจัดเลี้ยงเป็นลายลักษณ์อักษร และลงนามโดยคู่สัญญาทั้ง 2 ฝ่าย
สัญญาบริการจัดเลี้ยงเกี่ยวข้องกับใครบ้าง
บุคคลที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำสัญญาบริการจัดเลี้ยง ได้แก่
- ผู้ว่าจ้าง (เช่น ผู้จัดงาน เจ้าของงานเลี้ยง เจ้าของพิธีการ เจ้าภาพงาน) ตัวแทนผู้มีอำนาจของผู้ว่าจ้าง (เช่น กรรมการ หุ้นส่วนผู้จัดการ) หรือตัวแทนที่ผู้ว่าจ้างมอบหมายให้รับผิดชอบเกี่ยวกับการจัดเลี้ยงอาหาร/เครื่องดื่ม (เช่น ผู้จัดการ/ผู้อำนวยการฝ่ายบุคคล) ซึ่งเป็นผู้ลงนามในสัญญาบริการจัดเลี้ยงและผูกพันคู่สัญญาในฐานะผู้ว่าจ้าง
- ผู้รับจ้าง (เช่น ผู้รับจัดเลี้ยง ผู้ให้บริการจัดเลี้ยงอาหาร ร้านอาหาร) ตัวแทนผู้มีอำนาจของผู้รับจ้าง (เช่น กรรมการ หุ้นส่วนผู้จัดการ) หรือตัวแทนที่ผู้รับจ้างมอบหมายให้รับผิดชอบเกี่ยวกับการรับงานจัดเลี้ยงกับลูกค้า (เช่น ผู้จัดการ/ผู้อำนวยการฝ่ายขาย) ซึ่งเป็นผู้ลงนามในสัญญาบริการจัดเลี้ยงและผูกพันคู่สัญญาในฐานะผู้รับจ้าง
จะต้องทำอย่างไรต่อหลังจากที่ลงนามในสัญญาบริการจัดเลี้ยงแล้ว
คู่สัญญาควรจัดทำสัญญาบริการจัดเลี้ยงเป็นลายลักษณ์อักษร และให้คู่สัญญาหรือตัวแทนผู้มีอำนาจของคู่สัญญา รวมถึงพยานด้วย (ถ้ามี) ลงนามในสัญญาฉบับดังกล่าวให้เรียบร้อย
เมื่อจัดทำและลงนามในสัญญาบริการจัดเลี้ยงเรียบร้อยแล้ว คู่สัญญาอาจพิจารณาดำเนินการ ดังต่อไปนี้
- คู่สัญญาอาจจัดทำคู่ฉบับของสัญญาบริการจัดเลี้ยงอย่างน้อย 2 ฉบับ เพื่อให้คู่สัญญาแต่ละฝ่ายเก็บไว้ใช้อ้างอิงเป็นหลักฐานได้ฝ่ายละอย่างน้อย 1 ฉบับ
- คู่สัญญาแต่ละฝ่ายควรขอเอกสารแสดงตัวตนของคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งที่ลงนามรับรองสำเนาถูกต้องมาเก็บไว้ประกอบสัญญาบริการจัดเลี้ยงฉบับที่ตนเองถือไว้ด้วย เช่น บัตรประจำตัวประชาชน หนังสือเดินทาง หนังสือรับรองและบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคล (กรณีนิติบุคคล) รวมถึง หนังสือมอบอำนาจ ในกรณีที่มีการมอบอำนาจ
- คู่สัญญาอาจพิจารณาแนบเอกสารที่เกี่ยวข้องกับสัญญาบริการจัดเลี้ยง (ถ้ามี)
- คู่สัญญานำสัญญาบริการจัดเลี้ยงที่ลงนามเรียบร้อยแล้วไปชำระอากรแสตมป์ตามอัตรา ระยะเวลา และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด
จะต้องแนบหลักฐานหรือเอกสารประกอบสัญญาบริการจัดเลี้ยงด้วย หรือไม่
คู่สัญญาอาจพิจารณาแนบเอกสารที่เกี่ยวข้องกับสัญญาบริการจัดเลี้ยง (ถ้ามี) เพื่อความชัดเจนและความเข้าใจที่ตรงกันของคู่สัญญา เช่น
- ขอบเขตการให้บริการจัดเลี้ยง (เช่น รูปแบบการจัดเลี้ยงอาหาร/เครื่องดื่ม รายการ/เมนูอาหารและเครื่องดื่ม รายชื่อบุคลากร รายการวัตถุดิบ เครื่องมืออุปกรณ์ที่ต้องใช้ในการให้บริการ)
- เอกสารเกี่ยวกับค่าบริการจัดเลี้ยง (เช่น ตารางอัตราค่าบริการและกำหนดการชำระค่าบริการ ใบเสนอราคา)
สัญญาบริการจัดเลี้ยงจำเป็นจะต้องจดทะเบียนกับหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง หรือไม่
ไม่จำเป็น คู่สัญญาไม่จำเป็นจะต้องดำเนินการจดทะเบียนกับหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องใดๆ ในการจัดทำสัญญาบริการจัดเลี้ยง
สัญญาบริการจัดเลี้ยงจำเป็นจะต้องมีพยานลงนามด้วย หรือไม่
ไม่จำเป็น กฎหมายไม่ได้กำหนดให้สัญญาบริการจัดเลี้ยงจำเป็นจะต้องมีพยานลงนามด้วย
อย่างไรก็ดี คู่สัญญาอาจพิจารณาจัดให้มีพยานลงนามในสัญญาบริการจัดเลี้ยงตามที่เห็นสมควรด้วยก็ได้ ในกรณีเช่นนี้ พยานควรเป็นบุคคลผู้มีความสามารถในการทำนิติกรรมอย่างสมบูรณ์ (เช่น ผู้บรรลุนิติภาวะ อายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ ไม่เป็นบุคคลวิกลจริตหรือบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นผู้เสมือนไร้ความสามารถ ไม่เป็นผู้ทุพพลภาพ) และไม่ใช่บุคคลที่มีหน้าที่/ภาระผูกพันตามสัญญาบริการจัดเลี้ยง (เช่น คู่สัญญา)
มีค่าใช้จ่ายใดบ้างที่เกี่ยวข้องในการจัดทำสัญญาบริการจัดเลี้ยง
คู่สัญญาอาจมีค่าใช้จ่ายที่ต้องพิจารณาจัดเตรียมในการจัดทำสัญญาบริการจัดเลี้ยง ดังต่อไปนี้
- อากรแสตมป์ คู่สัญญามีหน้าที่นำสัญญาที่ลงนามเรียบร้อยแล้วไปชำระอากรแสตมป์ตามอัตรา ระยะเวลา และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด
- ภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax: VAT) ผู้ให้บริการ/ผู้รับจ้างอาจมีหน้าที่ต้องยื่นแบบและนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นรายเดือนให้แก่กรมสรรพากรตามอัตราที่กฎหมายกำหนด เว้นแต่ ในกรณีที่ผู้ให้บริการ/ผู้รับจ้างได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (เช่น ผู้ให้บริการเป็นกิจการขนาดย่อมที่มีฐานภาษีไม่เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี บริการที่อยู่ภายใต้ภาษีธุรกิจเฉพาะ บริการรักษาพยาบาลของสถานพยาบาล บริการการศึกษาของสถานศึกษา บริการการประกอบโรคศิลปะ การสอบบัญชี การว่าความ การให้บริการห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ สวนสัตว์)
ทำไมผู้จัดงาน/ผู้ว่าจ้างจึงมักเลือกใช้บริการจัดเลี้ยงอาหาร/เครื่องดื่ม
ในการจัดงานเลี้ยงหรืองานพิธีต่างๆ ผู้จัดงาน/ผู้ว่าจ้างมักเลือกที่จะว่าจ้างผู้รับจัดเลี้ยง/ผู้รับจ้าง (เช่น ผู้รับจัดเลี้ยง ผู้ให้บริการจัดเลี้ยงอาหาร ร้านอาหาร) เป็นผู้จัดหา จัดเตรียม ประกอบอาหารและ/หรือเครื่องดื่มสำหรับผู้ร่วมงาน/แขกในงานของตน เนื่องจาก
- ผู้รับจัดเลี้ยงหรือผู้ให้บริการจัดเลี้ยงอาหารมักเป็นผู้ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ในการจัดเลี้ยงอาหารและ/หรือเครื่องดื่มในปริมาณมาก
- ผู้รับจัดเลี้ยงหรือผู้ให้บริการจัดเลี้ยงบางรายอาจมีชื่อเสียงด้านรสชาติอาหารที่ดี
- ผู้จัดงาน/ผู้ว่าจ้างไม่จำเป็นต้องดำเนินการจัดหาวัตถุดิบ จัดเตรียมอุปกรณ์และเครื่องมือ ประกอบอาหารในปริมาณมาก และเก็บล้างทำความสะอาดภาชนะด้วยตนเอง
- ผู้จัดงาน/ผู้ว่าจ้างอาจไม่มีประสบการณ์ในการประกอบอาหารสำหรับผู้ร่วมงาน/แขกในปริมาณมาก และอาจทำให้เกิดความเสียหายต่อการจัดงานได้ (เช่น อาหารรสชาติผิดเพี้ยน อาหารปรุงไม่สุก บุคลากรไม่เพียงพอ)
ต้องระบุข้อมูลสำคัญใดบ้างลงในสัญญาบริการจัดเลี้ยง
คู่สัญญาควรระบุรายละเอียดและข้อความสำคัญในสัญญาบริการจัดเลี้ยง ดังต่อไปนี้
- คู่สัญญา เช่น ชื่อ ที่อยู่ เพื่อการอ้างอิงที่ถูกต้อง โดยเฉพาะรายละเอียดผู้รับจ้างซึ่งเป็นสาระสำคัญของสัญญา
- ขอบเขตของบริการจัดเลี้ยง เช่น รายการอาหาร เครื่องดื่ม ปริมาณและจำนวนที่ต้องจัดเตรียม จำนวนและคุณสมบัติของบุคลากรที่ต้องจัดให้มี ข้อกำหนดเกี่ยวกับวัสดุ วัตถุดิบ เครื่องมือ และอุปกรณ์ที่ต้องใช้
- รายละเอียดการจัดงาน เช่น สถานที่จัดงาน วันที่จัดงาน และเวลาจัดงาน จำนวนผู้ร่วมงาน จำนวนโต๊ะ โดยคู่สัญญาอาจตกลงว่าจ้างจัดเลี้ยงเพียงงานเดียว หรือหลายงานต่อเนื่องกันก็ได้
- ค่าบริการ เช่น รูปแบบและอัตราการคิดค่าบริการ เงินมัดจำ รวมถึงกำหนดการชำระเงิน
- ข้อตกลงอื่น เช่น เงื่อนไขการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดการจัดงาน เงื่อนไขการยกเลิกการจัดงาน เงื่อนไขการเปลี่ยนแปลงค่าบริการ
กฎหมายใดบ้างที่เกี่ยวข้องกับสัญญาบริการจัดเลี้ยง
กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำสัญญาบริการจัดเลี้ยงมี ดังต่อไปนี้
ความช่วยเหลือจากทนายความ
คุณสามารถเลือกที่จะปรึกษาทนายความได้ในกรณีที่คุณต้องการความช่วยเหลือ
ทนายความสามารถช่วยคุณได้โดยทำการตอบคำถามของคุณหรือให้ความช่วยเหลือในกระบวนการต่าง ๆ จะมีการเสนอตัวเลือกดังกล่าวไว้ให้คุณในตอนท้ายของเอกสาร
แก้ไขแบบฟอร์มได้อย่างไร
คุณกรอกแบบสอบถามสำหรับป้อนข้อมูลแล้วจะเห็นได้ว่าระบบของเราจะค่อย ๆ สร้างเอกสารขึ้นเองโดยอัตโนมัติตามคำตอบที่คุณกรอกเข้าไป
ในตอนสุดท้าย คุณจะได้รับเอกสารในรูปแบบ Word และ PDF คุณสามารถแก้ไขและนำเอกสารไปใช้อีกได้