สัญญาจ้างแบบมีกำหนดระยะเวลา ทำได้หรือไม่ และนายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยหรือไม่เมื่อครบกำหนดระยะเวลาการจ้าง

ปรับปรุงล่าสุด ปรับปรุงล่าสุด15 กรกฎาคม 2019
คะแนน คะแนน 4.6 - 82 คะแนนโหวต

ในปัจจุบัน ความหลากหลายในการประกอบธุรกิจและกิจการมีเพิ่มมากขึ้นทำให้มีลักษณะการให้บริการคู่ค้าหรือผู้บริโภคมากขึ้นและในขณะเดียวกันก็ทำให้ผู้ประกอบการหรือนายจ้างมีความต้องการแรงงานในลักษณะที่แตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น ในบางลักษณะงานนายจ้างต้องการผู้ปฏิบัติงานที่มีความเชี่ยวชาญ มีประสบการณ์ และมีความเข้าใจรูปแบบและลักษณะการดำเนินธุรกิจและประกอบธุรกิจของนายจ้างเป็นอย่างดี ในกรณีเช่นนี้ นายจ้างอาจเลือกที่จะจ้างลูกจ้างหรือพนักงานในรูปแบบพนักงานประจำ (ไม่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างที่แน่นอน) เนื่องจากต้องการให้ลูกจ้างทำงานอยู่กันนายจ้างในระยะยาว ในทางกลับกัน ในบางลักษณะงานนายจ้างอาจต้องการผู้ปฏิบัติงานมาทำงานให้เพียงชั่วคราวเท่านั้น เช่น เป็นโครงการพิเศษ หรือเป็นงานที่มีเป็นช่วงๆ ตามฤดูกาล หรืองานที่ระยะการปฏิบัติงานเพียงระยะเวลาสั้นๆ ในกรณีเช่นนี้ นายจ้างอาจเลือกที่จะจ้างลูกจ้างหรือพนักงานด้วยระยะเวลาที่จำกัด (มีกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดการจ้างที่แน่นอน) เพื่อตอบสนองความต้องการแรงงานของผู้ประกอบกิจการหรือนายจ้าง รวมถึงเพื่อตอบสนองการบริหารและใช้งบประมาณของกิจการหรือนายจ้างที่มีประสิทธิภาพด้วย

สัญญาจ้างแบบมีกำหนดระยะเวลาทำได้หรือไม่

สัญญาจ้างแบบมีกำหนดระยะเวลาที่แน่นนอน คือสัญญาจ้างแรงงานที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงระยะเวลาการจ้างไว้อย่างชัดเจนและเป็นที่แน่นอน ซึ่งแตกต่างจากสัญญาจ้างที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างที่แน่นอน เช่น สัญญาจ้างที่ไม่มีกำหนดเวลาสิ้นสุด โดยที่นายจ้างหรือลูกจ้างอาจบอกเลิกสัญญาจ้างโดยการบอกกล่าวล่วงหน้า หรือสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดแต่มีเงื่อนไขหรือข้อตกลงในสัญญาจ้างที่คู่สัญญาเพียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง (โดยเฉพาะฝ่ายนายจ้าง) มีสิทธิในการลดหรือขยายระยะเวลาการจ้างได้

สัญญาจ้างแบบมีกำหนดระยะเวลาที่แน่นนอน เช่น จ้างให้ทำงานตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 ถึงวันที่ 30 เมษายน 2563 เป็นระยะเวลา 4 เดือน เป็นต้น

โดยอาจกล่าวโดยได้ว่าสัญญาจ้างแบบมีกำหนดระยะเวลาแน่นอน นายจ้างสามารถเลือกทำได้ตามความต้องการการใช้แรงงานของผู้ประกอบการหรือนายจ้างและความยินยอมของลูกจ้างที่จะรับทำงานที่มีกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดเอาไว้

สัญญาจ้างทดลองงานซึ่งกำหนดระยะเวลาการจ้างเอาไว้ เช่น จ้างทดลองงาน 3 เดือน แต่มีเงื่อนไขให้สิทธินายจ้างต่อสัญญาได้ในกรณีที่ผ่านการทดลองงาน ในกรณีเช่นนี้ถือว่าเป็นสัญญาจ้างที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างที่แน่นอน เนื่องจากมีเงื่อนไขหรือข้อตกลงในสัญญาจ้างที่คู่สัญญาเพียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสิทธิในการลดหรือขยายระยะเวลาการจ้างได้

นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยหรือไม่เมื่อครบกำหนดระยะเวลาการจ้าง

อย่างไรก็ดี นอกจากความต้องการแรงงานแล้ว เนื่องจากฎหมายคุ้มครองแรงงานเกี่ยวกับการจ่ายค่าชดเชยกรณีนายจ้างเลิกจ้างกำหนดให้การที่สัญญาจ้างสิ้นสุดลงเมื่อครบกำหนดระยะเวลาการจ้างถือว่าเป็นการเลิกจ้างด้วยเช่นกัน ผู้ประกอบการหรือนายจ้างจึงอาจจะต้องมีข้อพิจารณาต่อไปว่านายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างหรือไม่ เมื่อครบกำหนดระยะเวลาการจ้างที่ได้กำหนดเอาไว้ตั้งแต่แรก โดยอาจพิจารณาเรื่องการจ่ายค่าชดเชยในกรณีดังกล่าว โดยที่ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานกำหนดให้ นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่ลูกจ้างในกรณีที่สัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาที่แน่นอนได้สิ้นสุดลงตามระยะเวลานั้น โดยที่งานที่จ้างจะต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้ เท่านั้น ได้แก่

(ก) การจ้างงานในโครงการเฉพาะที่ไม่ใช่งานปกติของธุรกิจหรือการค้าของนายจ้างซึ่งต้องมีระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดของงานที่แน่นอน งานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราวที่มีกำหนดงานสิ้นสุดหรือความสำเร็จของงาน หรืองานที่เป็นไปตามฤดูกาล และได้จ้างในช่วงเวลาของฤดูกาลนั้น
(ข) งานนั้นจะต้องแล้วเสร็จภายในเวลาไม่เกิน 2 ปี และ
(ค) นายจ้างและลูกจ้างได้ทำสัญญาเป็นหนังสือกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้ชัดเจนตั้งแต่เมื่อเริ่มจ้าง

ดังนี้ หากการเลิกจ้างอันเนื่องมาจากการครบกำหนดระยะเวลาการจ้างของสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาที่แน่นอน และงานที่จ้างดังกล่าวก็มีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังกล่าวข้างต้นแล้ว นายจ้างย่อมไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้าง

ข้อสรุป

อาจกล่าวได้โดยสรุปถึงความแตกต่างในแต่ละกรณีการบอกเลิกแต่ละสัญญาจ้างได้ ดังต่อไปนี้

1. สัญญาจ้างที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างที่แน่นอน นายจ้างต้องบอกกล่าวการเลิกจ้างล่วงหน้าตามกฎหมายและจ่ายค่าชดเชย (หากการเลิกจ้างไม่เข้าข้อยกเว้นการจ่ายค่าชดเชยอื่นๆ เช่น ลูกจ้างกระทำความผิดร้ายแรง)
2. สัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างที่แน่นอนแต่ไม่มีลักษณะตามข้อยกเว้นการจ่ายค่าชดเชย นายจ้างไม่ต้องบอกกล่าวการเลิกจ้างล่วงหน้าแต่ยังคงต้องจ่ายค่าชดเชย (หากการเลิกจ้างไม่เข้าข้อยกเว้นการจ่ายค่าชดเชยอื่นๆ เช่น ลูกจ้างกระทำความผิดร้ายแรง)
3. สัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างที่แน่นอนและมีลักษณะตามข้อยกเว้นการจ่ายค่าชดเชย นายจ้างไม่ต้องบอกกล่าวการเลิกจ้างล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้ลูกจ้าง

ในกรณีที่นายจ้างมีความต้องการใช้แรงงานเป็นการชั่วคราวแต่ลักษณะงานดังกล่าวไม่เข้าลักษณะการจ้างงานที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนซึ่งนายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย นายจ้างอาจพิจารณาการจ้างทำของหรือการจ้างใช้บริการแทนการจ้างแรงงาน โดยที่นายจ้างจะต้องมั่นใจว่าลักษณะของการจ้างดังกล่าวเป็นการจ้างทำของตามกฎกมาย เช่น มุ่งเน้นที่ผลสำเร็จของงานและผู้รับจ้างมีอิสระในการทำงานที่จ้างดังกล่าว โดยอาจสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คู่มือทางกฎหมาย: ความแตกต่างระหว่างสัญญาจ้างแรงงานและสัญญาจ้างทำของ

แบบฟอร์มและตัวอย่างต่าง ๆ ที่สามารถดาวน์โหลดได้ในรูปแบบ Word และ PDF

ให้คะแนนคู่มือฉบับนี้