ความแตกต่างระหว่างสัญญาจ้างแรงงานและสัญญาจ้างทำของ

ปรับปรุงล่าสุด ปรับปรุงล่าสุด4 มีนาคม 2020
คะแนน คะแนน 4.5 - 73 คะแนนโหวต

ในปัจจุบัน ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีโดยเฉพาะเทคโนโลยีด้านการติดต่อสื่อสารและสื่อสังคมมีความก้าวหน้าอย่างมากจึงทำให้เป็นช่องทางในการเกิดธุรกิจเกิดใหม่ (Startups) และลักษณะการดำเนินธุรกิจในรูปแบบใหม่ (Business Model) มากมาย ด้วยเหตุนี้จึงทำให้มีปริมาณงานมากขึ้นและทำให้มีความต้องการคนทำงานมากขึ้น อย่างไรก็ดี ในการจัดหาผู้ทำงานในปัจจุบันธุรกิจอาจมีทางเลือกในการจัดหาผู้ทำงานหลักๆ ได้แก่ การจ้างแรงงาน (เช่น การจ้างพนักงาน) ซึ่งมุ่งเน้นอำนาจบังคับบัญชาผู้รับจ้างเป็นสำคัญและการจ้างทำของ (เช่น การจ้างผลิตงาน การจ้างออกแบบ การให้คำปรึกษา การจ้างก่อสร้าง การจ้างใช้งานบริการต่างๆ) ซึ่งมุ่งเน้นผลสำเร็จของงานเป็นสำคัญหากพิจารณาเพียงคร่าวๆ จะพบว่าทั้งสองลักษณะการจ้างงานนี้มีความใกล้เคียงกันคือ มีผู้ว่าจ้างจ้างผู้รับจ้างให้ทำงานให้แก่ผู้ว่าจ้างและผู้ว่าจ้างตกลงจะชำระค่าตอบแทนให้แก่ผู้รับจ้างเพื่อตอบแทนงานที่ทำนั้น แต่หากพิจารณาในเชิงลึกแล้วทั้งสองลักษณะการจ้างงานมีความแตกต่างกันอย่างมากทั้งในด้านของ ลักษณะ เงื่อนไข ข้อจำกัด กฎหมายที่ใช้บังคับ และที่สำคัญต้นทุนทั้งหมดในการจ้างทำงาน

ลักษณะของสัญญาจ้างแรงงาน

สัญญาจ้างแรงงานหรือสัญญาจ้างพนักงาน คือสัญญาที่มีคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ว่าจ้างซึ่งเรียกว่านายจ้าง ว่าจ้างให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเป็นผู้รับจ้างเรียกว่าลูกจ้าง โดยผู้ว่าจ้างตกลงจะจ่ายค่าตอบแทนซึ่งเรียกว่าค่าจ้างเพื่อตอบแทนที่ผู้รับจ้างนั้นทำงานให้แก่ผู้ว่าจ้างตามความรับผิดชอบ ขอบเขตงาน ตำแหน่งงาน ภาระหน้าที่ และระยะเวลาที่ตกลงกัน

ลักษณะของสัญญาจ้างทำของ

สัญญาจ้างทำของ เช่น สัญญาบริการ สัญญาจ้างผลิต สัญญาจ้างออกแบบ สัญญาก่อสร้าง เป็นสัญญาประเภทหนึ่งซึ่งมีคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ว่าจ้างซึ่งเรียกแตกต่างกันไปแล้วแต่สัญญา เช่น ผู้ใช้บริการ ผู้รับบริการ ผู้ว่าจ้าง และคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเป็นผู้รับจ้างซึ่งเรียกแตกต่างกันไปแล้วแต่สัญญา เช่น ผู้ให้บริการ ผู้รับจ้าง ผู้รับเหมา โดยที่ผู้ว่าจ้างตกลงจะชำระค่าตอบแทนให้แก่ผู้รับจ้างซึ่งเรียกแตกต่างกันไป เช่น ค่าบริการ ค่าบำเหน็จ ค่าก่อสร้าง เพื่อตอบแทนงานที่ผู้รับจ้างได้ทำให้ตามขอบเขตที่คู่สัญญาได้ตกลงกัน

การจ้างทำงานนั้นเป็นการจ้างแรงงานหรือการจ้างทำของ

ในการพิจารณาการจ้างทำงานว่าเป็นการจ้างแรงงานหรือเป็นการจ้างทำของนั้น ผู้ว่าจ้างอาจใช้หลักเกณฑ์ในการพิจารณา ดังต่อไปนี้

(1) การมุ่งเน้นผลสำเร็จของงานเป็นสำคัญ
การจ้างทำของจะมีความมุ่งหวังที่ผลสำเร็จของงานนั้นเป็นสำคัญ กล่าวคือ ผู้รับจ้างจะมีอิสระในการดำเนินการงานที่จ้างให้สำเร็จลุล่วง ตามลักษณะ แบบ คุณสมบัติ เวลา และมาตรฐานที่ผู้ว่าจ้างกำหนด และในการคิดคำนวณค่าตอบแทนมักใช้ผลสำเร็จของงานที่ตกลงกันเป็นตัวแปรในการพิจารณาค่าตอบแทนของผู้รับจ้าง

(2) อำนาจบังคับบัญชา
ในสัญญาจ้างแรงงานผู้ว่าจ้างจะมีอำนาจการบังคับบัญชาเด็ดขาดเหนือผู้รับจ้าง กล่าวคือ ผู้ว่าจ้างอาจมอบหมายงานอย่างอื่นให้ผู้รับจ้าง เปลี่ยนแปลงขอบเขตหน้าที่ความรับผิดชอบของผู้รับจ้างได้ มีอำนาจตักเตือนลงโทษทางวินัย การกำหนดให้ผู้รับจ้างเข้าทำงานตามวันเวลาที่ผู้ว่าจ้างกำหนด

(3) ประเภทบุคคลของผู้รับจ้างทำงาน
โดยทั่วไปในการจ้างแรงงาน ผู้รับจ้างจะต้องเป็นบุคคลธรรมดาเท่านั้น ในขณะที่ในการจ้างทำของผู้รับจ้างอาจเป็นได้ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล (เช่น บริษัท ห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน) ก็ได้

หมายเหตุ: อย่างไรก็ดี ในกรณีที่ผู้รับจ้างเป็นนิติบุคคลแต่งานที่ผู้รับจ้างให้บริการนั้นคือการจัดหาคนมาทำงานซึ่งคนดังกล่าวอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของผู้ว่าจ้าง ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ถือว่าเป็นการจ้างเหมาค่าแรง (Outsourcing) ซึ่งกฎหมายให้ถือว่าคนที่มาทำงานดังกล่าวเป็นลูกจ้าง/พนักงานของผู้ว่าจ้างด้วย

ผลความแตกต่างระหว่างการจ้างแรงงานและการจ้างทำของ

เมื่อผู้ว่าจ้างสามารถพิจารณาแยกระหว่างการจ้างแรงงานและการจ้างทำของได้แล้ว ดังนี้ ผู้ว่าจ้างจึงสามารถพิจารณถึงผลของความแตกต่าง เช่น สิทธิ ภาระหน้าที่ ข้อจำกัด และความรับผิดชอบตามกฎหมายของผู้ว่าจ้างและผู้รับจ้าง ดังต่อไปนี้

(1) ค่าตอบแทน
ในการกำหนดค่าตอบแทนการทำงานสำหรับการจ้างทำของคู่สัญญาสามารถตกลงกันได้ในอัตราที่เป็นที่ยอมรับทั้งสองฝ่ายโดยอาจคำนึงถึงปริมาณงานและคุณภาพของงาน แต่ในกรณีการจ้างแรงงานผู้ว่าจ้างจะต้องจ่ายค่าตอบแทนไม่น้อยไปกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำหรืออัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือตามที่คณะกรรมการค่าจ้างประกาศกำหนด

(2) ภาษีอากร

    • ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT: Value-Added Tax) โดยทั่วไปการจ้างทำของถือเป็นการให้บริการอย่างหนึ่งซึ่งอยู่ภายใต้กฎหมายภาษีมูลค่าเพิ่มตามประมวลรัษฎากร อย่างไรก็ดี หากเป็นการจ้างแรงงานจะได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม
    • ภาษีเงินได้ของผู้รับจ้าง (Income Tax) ค่าตอบแทนสำหรับการจ้างแรงงานและจ้างทำของถือเป็นเงินได้คนละประเภทซึ่งอาจมีหลักเกณฑ์เกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ทางภาษีหรือการหักค่าใช้จ่ายที่แตกต่างกัน
    • ภาษีหัก ณ ที่จ่าย (Withholding Tax) อัตราและวิธีการคำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่าย ที่ผู้ว่าจ้างจะต้องหักจากค่าตอบแทนเพื่อนำส่งกรมสรรพากรที่แตกต่างกัน
    • อากรแสตมป์ (Stamp Duty) สัญญาจ้างทำของเป็นตราสารที่จะต้องติด/ชำระอากรแสตมป์ตามอัตราที่กำหนด ส่วนสัญญาจ้างแรงงานเป็นตราสารที่ไม่ต้องติด/ชำระอากรแสตมป์

(3) หลักประกันการทำงานที่จ้าง
ในการจ้างทำของผู้ว่าจ้างอาจให้ผู้รับจ้างวางหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญาในรูปแบบและจำนวนที่เหมาะสมที่จะครอบคลุมความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้ตามที่คู่สัญญาตกลงยอมรับ แต่ในกรณีของการจ้างแรงงานการเรียกหลักประกันการทำงาน ต้องเป็นไปตามประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเรียกหรือรับหลักประกันการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายในการทำงานจากลูกจ้าง เท่านั้น ซึ่งกำหนด เงื่อนไขงาน จำนวน รูปแบบ และการเก็บรักษาหลักประกันประกันที่กำหนดเท่านั้นที่จะสามารถทำได้

(4) เครื่องมือ วัสดุ อุปกรณ์ และสัมภาระในการทำงาน
หากไม่มีการตกลงไว้เป็นอย่างอื่นอย่างชัดเจน ในการจ้างแรงงานผู้รับจ้างไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบจัดหาเครื่องมือ วัสดุ อุปกรณ์ วัตถุดิบ และสัมภาระในการทำงาน ในขณะที่หากเป็นการจ้างทำของผู้รับจ้างจะต้องเป็นจัดหาและรับผิดชอบค่าใช้จ่ายดังกล่าว

(5) วันและเวลาทำงาน
เนื่องจากการจ้างทำของมุ่งเน้นผลสำเร็จของงานเป็นสำคัญ โดยทั่วไปวันและเวลาทำงานจึงไม่ใช่สาระสำคัญของการจ้าง ผู้รับจ้างมีอิสระในการบริหารจัดการเวลาให้สามารถส่งมอบงานที่จ้างได้ตามกำหนด ในขณะที่การจ้างแรงงาน ผู้ว่าจ้างมีอำนาจบังคับบัญชาผู้รับจ้างโดยที่สามารถกำหนดวันและเวลาทำงาน วันหยุด วันลาต่างๆ ได้ ทั้งนี้ไปเป็นไปตามหรือไม่ขัดต่อกฎหมายคุ้มครองแรงงาน เช่น ห้ามทำงานเกินว่า 6 วันต่อสัปดาห์

(6) ตัวผู้รับจ้างเป็นสาระสำคัญของสัญญา
ในการจ้างแรงงานถือคุณสมบัติของผู้รับจ้างเป็นสาระสำคัญของสัญญาจ้างแรงงานเสมอ เช่น ความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ ทักษะ ความชำนาญ ผีมือของผู้รับจ้างที่เหมาะสมกับงานที่มอบหมาย ในขณะที่การจ้างทำของผู้ว่าจ้างอาจถือหรือไม่ถือคุณสมบัติของผู้รับจ้างเป็นสาระสำคัญก็ได้ ในกรณีที่ผู้ว่าจ้างไม่ถือคุณสมบัติของผู้รับจ้างเป็นสาระสำคัญ เช่น การที่ผู้ว่าจ้างไม่กำหนดห้ามผู้รับจ้าง จ้างบุคคลอื่นทำงานช่วงแทนผู้รับจ้าง

(7) หน้าที่ของผู้ว่าจ้าง
หากเป็นการจ้างแรงงานแล้ว นอกจากหน้าที่ของผู้ว่าจ้างจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ตกลงกันไว้ในสัญญาแล้ว ผู้ว่าจ้างจะยังมีหน้าที่ต่างๆ ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานและกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการจ้างแรงงานด้วย เช่น การจ้ายค่าชดเชยการเลิกจ้างให้แก่ผู้รับจ้างในกรณีเลิกจ้างตามอัตราไม่ต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด การขึ้นทะเบียนนายจ้างและนำส่งเงินสมทบ เงินสะสม เงินกองทุนประกันสังคมให้แก่สำนักงานประกันสังคม หรือการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทน

(8) สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาของผู้รับจ้าง
ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ ในกรณีที่คู่สัญญาไม่ได้ตกลงกันเอาไว้เป็นอย่างอื่นเป็นลายลักษณ์อักษร งานอันมีลิขสิทธิ์ (Copyright) ที่ผู้รับจ้างได้จัดทำขึ้น เช่น งานรายงาน บทวิเคราะห์ ระบบงาน โปรแกรม ภาพวาด ภาพถ่าย งานออกแบบ หรือสื่อต่างๆ หากเป็นการทำขึ้นเนื่องจากการจ้างแรงงาน งานอันมีลิขสิทธิ์นั้นจะตกเป็นของผู้รับจ้างโดยที่นายจ้างมีเพียงสิทธินำงานนั้นไปใช้และนำออกเผยแพร่ได้ตามวัตุประสงค์ของการจ้างงานนั้น ในขณะที่หากเป็นการจ้างทำของงานอันมีลิขสิทธิ์จะตกเป็นสิทธิของผู้ว่างจ้างโดยผลของกฎหมาย

(9) ความรับผิดต่อบุคคลภายนอกตามกฎหมายละเมิด
การจ้างแรงงานหากผู้รับจ้างได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่นอันเนื่องมาจากการกระทำไปในทางการที่จ้าง ผู้ว่าจ้างจะต้องร่วมรับผิดชอบกับบุคคลผู้เสียหายนั้นด้วย ในขณะที่การจ้างทำของ ผู้ว่าจ้างไม่ต้องร่วมรับผิดชอบความเสียหายอันเนื่องมาจากการกระทำของผู้รับจ้างเนื่องจากผู้รับจ้างมีอิสระในการใช้ดุลพินิจในการทำงานดำเนินการ ผู้ว่าจ้างไม่ได้มีส่วนควบคุมหรือรู้เห็นกับการตัดสินใจ การกระทำการนั้นของผู้รับจ้างได้เลย ยกเว้นในกรณีที่ความเสียหายนั้นเกิดจากการที่ผู้ว่าจ้างได้มีคำสั่งให้ผู้รับจ้างตามคำสั่งนั้นและการกระทำนั้นก่อให้เกิดการละเมิดหรือในกรณีที่ผู้ว่าจ้างสรรหาและเลือกให้บริการที่ไม่มีคุณภาพ มาตรฐาน และ/หรือความรู้ ความสามารถที่ไม่เหมาะสมกับงานที่จ้างจนก่อให้เกิดความเสียหาย

(10) เขตอำนาจศาล
ข้อพิพาทเกี่ยวกับการจ้างแรงงานจะอยู่ภายใต้เขตอำนาจของศาลแรงงานซึ่งเป็นศาลชำนัญการพิเศษซึ่งมีกระบวนและพิธีพิจารณาเฉพาะ ในขณะที่ข้อพิพาทอันเกิดจากการจ้างทำของอยู่ภายใต้เขตอำนาจของศาลชั้นต้นทั่วไป เช่น ศาลแพ่ง ศาลแขวง ศาลจังหวัด เป็นต้น

เมื่อพิจารณาถึงความแตกต่างแล้วจะพบว่าการจ้างทำงานด้วยการจ้างทำของจะมีต้นทุนการจ้างโดยรวมที่ถูกกว่าและมีภาระหน้าที่ ความผูกพันต่อผู้ว่าจ้างน้อยกว่าการจ้างแรงงาน อีกทั้งยังมีประสิทธิภาพ ความคล่องตัว และความยืดหยุ่นสูงกว่าการจ้างแรงงาน ทำให้ธุรกิจเกิดใหม่และธุรกิจขนาดกลาง-ย่อมมักนิยมการจ้างทำงานแบบจ้างทำของมากขึ้น อย่างไรก็ดี หากมีข้อพิพาทไม่ว่าเกี่ยวกับการจ้างแรงงานหรือเกี่ยวกับภาษี ศาลหรือเจ้าหน้าที่มักพิจารณาที่พฤติการณ์และข้อเท็จจริงแห่งการจ้างทำงานนั้นเป็นสำคัญไม่ว่าจะเรียกชื่อสัญญานั้นว่าอะไรก็ตาม อันได้แก่ การมุ่งเน้นผลสำเร็จของงานเป็นสำคัญและอำนาจบังคับบัญชา

แม้จะพิจารณาได้ว่าลักษณะงานที่จ้างเป็นการจ้างทำของ แต่หากผู้รับจ้างเป็นบุคคลธรรมดาและงานที่จ้างตามมีลักษณะดังต่อไปนี้
(ก) เป็นงานเกี่ยวกับการผลิต ประกอบ บรรจุ ซ่อม หรือแปรรูปสิ่งของ
(ข) ผู้รับจ้างดำเนินการในบ้านของผู้รับจ้าง หรือสถานที่อื่นที่มิใช่สถานประกอบกิจการของผู้ว่าจ้าง
(ค) ใช้วัตถุดิบหรืออุปกรณ์ในการผลิตของผู้ว่าจ้างทั้งหมดหรือบางส่วน และ
(ง) งานที่ให้บริการนั้นเป็นส่วนหนึ่งส่วนใด หรือทั้งหมดในกระบวนการผลิตหรือธุรกิจในความรับผิดชอบของผู้ว่าจ้าง
ผู้ว่าจ้างก็จะมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้านซึ่งกำหนดเงื่อนไขต่างๆ ด้วย เช่น อัตราค่าตอบแทนขั้นต่ำของผู้รับจ้าง การหักค่าตอบแทนของผู้รับจ้าง ความปลอดภัยในการทำงานของผู้รับจ้าง การเรียกหลักประกันจากของผู้รับจ้าง เป็นต้น

แบบฟอร์มและตัวอย่างต่าง ๆ ที่สามารถดาวน์โหลดได้ในรูปแบบ Word และ PDF

ให้คะแนนคู่มือฉบับนี้
4.5 - ดีมาก