สัญญาเช่าช่วงคืออะไร
สัญญาเช่าช่วง หรือสัญญาให้เช่าช่วง คือสัญญาเช่าสิ่งปลูกสร้าง/อสังหาริมทรัพย์ (เช่น บ้าน ห้องชุด คอนโดมิเนียม ห้องอยู่อาศัย อะพาร์ตเมนต์ แฟลต หอพัก) มีคู่สัญญา 2 ฝ่ายคือ ผู้ให้เช่าช่วงที่นำสิ่งปลูกสร้างนั้นออกให้เช่าซึ่งตนก็ได้เช่าสิ่งปลูกสร้างนั้นต่อมาจากผู้อื่น และผู้เช่าช่วงซึ่งมีสิทธิได้ใช้ประโยชน์ในสิ่งปลูกสร้าง/อสังหาริมทรัพย์ที่เช่านั้นภายในระยะเวลาการเช่าที่ตกลงกัน โดยผู้เช่าช่วงตกลงจะชำระค่าเช่าเพื่อตอบแทนการใช้ประโยชน์นั้น
สัญญาเช่าสิ่งปลูกสร้าง/อสังหาริมทรัพย์มีลักษณะใดบ้าง
สัญญาเช่าสิ่งปลูกสร้าง หรือสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์ อาจแบ่งตามลำดับของการเช่าได้ ดังต่อไปนี้
- สัญญาเช่าลำดับแรกซึ่งเป็นสัญญาเช่าสิ่งปลูกสร้างหรือสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์ที่คู่สัญญาเช่าสิ่งปลูกสร้าง/อสังหาริมทรัพย์เป็นลำดับแรก เช่น ผู้ให้เช่าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์สิ่งปลูกสร้าง/อสังหาริมทรัพย์และผู้เช่าเช่าสิ่งปลูกสร้าง/อสังหาริมทรัพย์นั้นกับผู้ให้เช่า
- สัญญาเช่าลำดับรอง/สัญญาเช่าช่วงซึ่งเป็นสัญญาเช่าสิ่งปลูกสร้างหรือสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์ที่คู่สัญญาเช่าสิ่งปลูกสร้าง/อสังหาริมทรัพย์ต่อเป็นช่วงจากการเช่าในลำดับแรกหรือในลำดับก่อนหน้า เช่น ผู้เช่าช่วง เช่าสิ่งปลูกสร้าง/อสังหาริมทรัพย์ต่อจากผู้เช่าในลำดับแรกหรือในลำดับก่อนหน้า โดยผู้เช่าในลำดับแรกหรือในลำดับก่อนหน้าจะมีฐานะเป็นผู้ให้เช่าช่วง
ตัวอย่าง นาย ก. เจ้าของบ้าน/ที่ดิน ตกลงนำบ้าน/ที่ดินออกให้เช่าแก่ นาย ข. ต่อมา นาย ข. นำบ้าน/ที่ดินดังกล่าวออกให้เช่าแก่ นาย ค. อีก ในกรณีเช่นนี้สัญญาเช่าบ้าน/ที่ดินระหว่างนาย ก. และนาย ข. เป็นสัญญาเช่าลำดับแรก และสัญญาเช่าบ้าน/ที่ดินระหว่างนาย ข. และนาย ค. เป็นสัญญาเช่าลำดับรอง/สัญญาเช่าช่วง
นอกจากนี้ สัญญาเช่าสิ่งปลูกสร้าง หรือสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์ อาจแบ่งตามวัตถุประสงค์ของการเช่าได้ ดังต่อไปนี้
- การเช่าสิ่งปลูกสร้างหรืออสังหาริมทรัพย์เพื่อประกอบการค้า/เชิงพาณิชย์ (Commercial) ซึ่งสัญญาเช่าสิ่งปลูกสร้างหรือสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์นั้นถูกร่างขึ้นบนพื้นฐานของการเช่าที่มีวัตถุประสงค์ในการใช้สิ่งปลูกสร้าง/อสังหาริมทรัพย์เพื่อประกอบการค้า/เชิงพาณิชย์ เช่น ประกอบกิจการร้านค้า ประกอบธุรกิจ ใช้เป็นอาคารหรือพื้นที่เป็นสำนักงาน (Office) ร้านอาหาร พื้นที่แสดงสินค้า หรือพื้นที่เก็บของ/คลังสินค้า โดยที่ การเช่าสิ่งปลูกสร้างหรืออสังหาริมทรัพย์เพื่อประกอบการค้า/เชิงพาณิชย์ เช่น สัญญาเช่าอาคาร/พื้นที่พาณิชย์ สัญญาเช่าสำนักงานสำเร็จรูป (Serviced Office)
- การเช่าสิ่งปลูกสร้างหรืออสังหาริมทรัพย์เพื่ออยู่อาศัย ซึ่งสัญญาเช่าสิ่งปลูกสร้างหรือสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์นั้นถูกร่างขึ้นบนพื้นฐานของการเช่าที่มีวัตถุประสงค์ในการใช้สิ่งปลูกสร้าง/อสังหาริมทรัพย์เพื่ออยู่อาศัยเป็นหลัก อย่างไรก็ดี ผู้ให้เช่าอาจตกลงยินยอมให้ผู้เช่าสามารถใช้สิ่งปลูกสร้างที่เช่าเพื่อวัตถุประสงค์อื่นด้วยก็ได้ ทั้งนี้ อาจต้องคำนึงถึงสภาพ ลักษณะ และข้อจำกัดทางกฎหมายของสิ่งปลูกสร้างนั้นด้วย โดยที่ การเช่าสิ่งปลูกสร้างหรืออสังหาริมทรัพย์เพื่ออยู่อาศัย เช่น สัญญาเช่าสิ่งปลูกสร้างเพื่ออยู่อาศัย
- การเช่าสิ่งปลูกสร้างหรืออสังหาริมทรัพย์เพื่อการเกษตร ซึ่งสัญญาเช่าสิ่งปลูกสร้าง หรือสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์นั้นถูกร่างขึ้นบนพื้นฐานของการเช่าที่มีวัตถุประสงค์ในการใช้สิ่งปลูกสร้าง/อสังหาริมทรัพย์เชิงเกษตรกรรม เช่น การทำนา การทำไร่ การทำสวน การเลี้ยงสัตว์ การทำการเกษตรรูปแบบอื่นๆ โดยที่ การเช่าสิ่งปลูกสร้างหรืออสังหาริมทรัพย์เพื่อการเกษตร เช่น สัญญาเช่าที่ดินเพื่อการเกษตร
จำเป็นต้องทำสัญญาเช่าช่วง หรือไม่
จำเป็น เนื่องจากในการทำสัญญาเช่าสิ่งปลูกสร้าง/อสังหาริมทรัพย์ตามกฎหมายกำหนดให้ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อฝ่ายที่มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามสัญญา (เช่น ผู้ให้เช่าช่วงและผู้เช่าช่วง) จึงจะสามารถฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ในกรณีที่มีข้อพิพาทเกี่ยวกับการเช่าสิ่งปลูกสร้างขึ้นในอนาคต คู่สัญญาทั้ง 2 ฝ่ายจึงควรจัดทำสัญญาเช่าสิ่งปลูกสร้างเพื่ออยู่อาศัยเป็นลายลักษณ์อักษร และลงนามในสัญญาทั้ง 2 ฝ่าย
ต้องระบุข้อมูลสำคัญใดบ้างลงในสัญญาเช่าช่วง
คู่สัญญาควรระบุรายละเอียดและข้อความสำคัญในสัญญาเช่าช่วง ดังต่อไปนี้
- คู่สัญญา เช่น ชื่อ ที่อยู่ของผู้ให้เช่าช่วงและผู้เช่าช่วง
- สิ่งปลูกสร้างที่เช่าช่วง เช่น ประเภท ลักษณะ ขอบเขต ขนาด สถานที่ตั้งของสิ่งปลูกสร้าง
- ระยะเวลาการเช่าช่วง เช่น กำหนดระยะเวลาการเช่า เงื่อนไขการต่อสัญญา/เลิกสัญญา
- ค่าตอบแทน เช่น ค่าเช่า เงินกินเปล่า ค่าบริการ ค่าบำรุงรักษาระบบสาธารณูปโภค (ถ้ามี)
- อื่นๆ (ถ้ามี) เช่น คำมั่นจะให้เช่าต่อ การให้เช่าช่วงต่อแก่บุคคลอื่น หน้าที่การบำรุงรักษาทรัพย์สินที่เช่า หน้าที่การรับผิดชอบภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง อากรแสตมป์ กฎระเบียบเกี่ยวกับการใช้สิ่งปลูกสร้าง (เช่น ข้อกำหนดการเข้าออกสถานที่เช่า การเลี้ยงสัตว์)
จำเป็นจะต้องดำเนินการอย่างไรก่อนทำสัญญาเช่าช่วง
ก่อนการจัดทำสัญญาสัญญาเช่าช่วง คู่สัญญาอาจมีข้อพิจารณา ดังต่อไปนี้
- ผู้เช่าช่วงควรตรวจสอบให้มั่นใจว่าผู้ให้เช่าช่วงเป็นผู้มีสิทธินำสิ่งปลูกสร้าง/อสังหาริมทรัพย์ออกให้เช่าช่วงได้โดยชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจาก ผู้ให้เช่าช่วงจำเป็นต้องได้รับความยินยอมจากผู้ให้เช่าในลำดับแรกหรือในลำดับก่อนหน้าในการนำสิ่งปลูกสร้าง/อสังหาริมทรัพย์ออกให้เช่าช่วงด้วย (เช่น ตกลงให้ความยินยอมไว้ในสัญญาเช่าเป็นการล่วงหน้า หรือทำเป็นหนังสือยินยอมให้เช่าช่วง) โดยผู้เช่าช่วงสามารถตรวจสอบข้อมูลดังกล่าวได้จากเอกสารแสดงการถือครองกรรมสิทธิ์/เอกสารทางทะเบียนที่กรมที่ดินออกให้ (เช่น โฉนดที่ดิน เอกสารแสดงกรรมสิทธิ์ในห้องชุด) และเอกสารเกี่ยวกับการเช่าสิ่งปลูกสร้าง/อสังหาริมทรัพย์ลำดับแรกหรือในลำดับก่อนหน้า (เช่น สัญญาเช่าระหว่างเจ้าของกรรมสิทธิ์/ผู้ให้เช่าและผู้เช่าคนก่อนหน้า หนังสือยินยอมให้เช่าช่วง)
- ผู้เช่าช่วงควรตรวจสอบให้มั่นใจว่าสิ่งปลูกสร้าง/อสังหาริมทรัพย์ที่จะเช่าตามสัญญาเช่าช่วง ไม่มีภาระผูกพันอื่นในทรัพย์สินที่เช่าที่อาจรบกวนการใช้ประโยชน์สิ่งปลูกสร้าง/อสังหาริมทรัพย์ของผู้เช่าช่วง หรืออาจทำให้ผู้เช่าช่วงไม่สามารถใช้ประโยชน์ในสิ่งปลูกสร้าง/อสังหาริมทรัพย์ได้ตามความต้องการ (เช่น ภาระจำยอม สิทธิเก็บกิน ภาระเหนือพื้นดิน) โดยผู้เช่าช่วงสามารถตรวจสอบข้อมูลดังกล่าวได้จากเอกสารแสดงการถือครองกรรมสิทธิ์/เอกสารทางทะเบียนที่กรมที่ดินออกให้ (เช่น โฉนดที่ดิน เอกสารแสดงกรรมสิทธิ์ในห้องชุด)
สัญญาเช่าช่วงเกี่ยวข้องกับใครบ้าง
บุคคลที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำสัญญาเช่าช่วง ได้แก่
- ผู้ให้เช่าช่วง (เช่น ผู้ที่นำสิ่งปลูกสร้างนั้นออกให้เช่าช่วงและเรียกเก็บค่าเช่าจากผู้เช่าช่วง ซึ่งตนก็เช่าสิ่งปลูกสร้าง/อสังหาริมทรัพย์นั้นต่อมาอีกที) ตัวแทนผู้มีอำนาจของผู้ให้เช่าช่วง (เช่น กรรมการ หุ้นส่วนผู้จัดการ) หรือตัวแทนที่ผู้ให้เช่าช่วงมอบหมายให้รับผิดชอบเกี่ยวกับการบริหารจัดการสิ่งปลูกสร้าง/อสังหาริมทรัพย์ (เช่น ผู้จัดการ/ผู้อำนวยการฝ่ายอาคาร) ซึ่งเป็นผู้ลงนามในสัญญาเช่าช่วงและผูกพันคู่สัญญาในฐานะผู้ให้เช่าช่วง
- ผู้เช่าช่วง (เช่น ผู้ที่มีสิทธิได้ใช้หรือได้รับประโยชน์ในสิ่งปลูกสร้างที่เช่านั้นและมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าเช่าให้ผู้ให้เช่าช่วง) ตัวแทนผู้มีอำนาจของผู้เช่าช่วง (เช่น กรรมการ หุ้นส่วนผู้จัดการ) หรือตัวแทนที่ผู้เช่าช่วงมอบหมายให้รับผิดชอบเกี่ยวกับการเช่าสิ่งปลูกสร้าง/อสังหาริมทรัพย์ (เช่น ผู้จัดการ/ผู้อำนวยการฝ่ายอาคาร) ซึ่งเป็นผู้ลงนามในสัญญาเช่าช่วงและผูกพันคู่สัญญาในฐานะผู้เช่าช่วง
ควรกำหนดระยะเวลาของสัญญาเช่าช่วง อย่างไร
ผู้ให้เช่าช่วงและผู้เช่าช่วงไม่ควรกำหนดระยะเวลาการเช่าช่วงสิ่งปลูกสร้าง/อสังหาริมทรัพย์เกินกำหนดระยะเวลา ดังต่อไปนี้
- ระยะเวลาการเช่าของสัญญาเช่าลำดับแรกหรือสัญญาเช่าในลำดับก่อนหน้า หรือ
- ระยะเวลาการเช่าช่วงสิ่งปลูกสร้าง/อสังหาริมทรัพย์เกิน 30 ปี เนื่องจากในการทำสัญญาเช่าสิ่งปลูกสร้าง/อสังหาริมทรัพย์ตามกฎหมายกำหนดให้คู่สัญญาสามารถตกลงกำหนดระยะเวลาการเช่ากันได้ไม่เกินคราวละ 30 ปี หากมีการตกลงระยะเวลาการเช่าเกินกว่า 30 ปี กฎหมายกำหนดให้ลดลงมาเหลือเพียง 30 ปี ผู้ให้เช่าช่วงและผู้เช่าช่วงจึงไม่ควรกำหนดระยะเวลาการเช่าช่วงสิ่งปลูกสร้าง/อสังหาริมทรัพย์เกิน 30 ปี ซึ่งอาจทำให้ระยะเวลาการเช่าส่วนที่เกิน 30 ปี ไม่สามารถใช้บังคับกันได้
จะต้องทำอย่างไรต่อหลังจากที่ลงนามในสัญญาเช่าช่วงแล้ว
คู่สัญญาควรจัดทำสัญญาเช่าช่วงเป็นลายลักษณ์อักษร และให้คู่สัญญาหรือตัวแทนผู้มีอำนาจของคู่สัญญา รวมถึงพยานด้วย (ถ้ามี) ลงนามในสัญญาเช่าช่วงดังกล่าวให้เรียบร้อย
เมื่อจัดทำและลงนามในสัญญาเช่าช่วงเรียบร้อยแล้ว คู่สัญญาอาจพิจารณาดำเนินการ ดังต่อไปนี้
- คู่สัญญาอาจจัดทำคู่ฉบับของสัญญาอย่างน้อย 2 ฉบับ เพื่อให้คู่สัญญาแต่ละฝ่ายเก็บไว้ใช้อ้างอิงเป็นหลักฐานได้ฝ่ายละอย่างน้อย 1 ฉบับ
- คู่สัญญาแต่ละฝ่ายควรขอเอกสารแสดงตัวตนของคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งที่ลงนามรับรองสำเนาถูกต้องมาเก็บไว้ประกอบสัญญาฉบับที่ตนเองถือไว้ด้วย เช่น บัตรประจำตัวประชาชน หนังสือเดินทาง หนังสือรับรองและบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคล (กรณีนิติบุคคล) รวมถึง หนังสือมอบอำนาจ ในกรณีที่มีการมอบอำนาจ
- คู่สัญญาอาจพิจารณาแนบเอกสารที่เกี่ยวข้องกับสัญญาเช่าช่วง
- คู่สัญญานำสัญญาเช่าช่วงที่ลงนามเรียบร้อยแล้วไปชำระอากรแสตมป์ตามอัตรา ระยะเวลา และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด เนื่องจากสัญญาเช่าช่วงและคู่ฉบับเป็นสัญญาที่กฎหมายกำหนดให้ต้องชำระอากรแสตมป์
- ในกรณีที่คู่สัญญาตกลงกำหนดระยะเวลาการเช่าเกินกว่า 3 ปี คู่สัญญาจะต้องไปจดทะเบียนการเช่ากับสำนักงานที่ดินและทำสัญญาตามแบบที่กฎหมายกำหนดซึ่งคู่สัญญาอาจมีค่าใช้จ่ายที่ต้องพิจารณาจัดเตรียมในการจดทะเบียนการเช่าอสังหาริมทรัพย์ (เช่น ค่าธรรมเนียมจดทะเบียน)
- ในกรณีที่คู่สัญญายังไม่ได้ส่งมอบ-รับมอบสิ่งปลูกสร้าง/อสังหาริมทรัพย์ที่เช่าช่วงในขณะที่ทำสัญญาเช่าช่วง คู่สัญญาควรจัดทำบันทึกการรับมอบในวันที่รับมอบสิ่งปลูกสร้าง/อสังหาริมทรัพย์ด้วย (เช่น บันทึกการตรวจรับสภาพสิ่งปลูกสร้างที่เช่า) โดยบันทึกการตรวจรับสภาพสิ่งปลูกสร้างที่เช่ามีความสำคัญมากในกรณีที่การเช่าสิ้นสุดลงและผู้ให้เช่าช่วงเรียกเก็บค่าเสียหาย หรือค่าซ่อมแซมสิ่งปลูกสร้างและ/หรือทรัพย์สินที่เช่ากับผู้เช่าช่วง
จะต้องแนบหลักฐานหรือเอกสารประกอบสัญญาเช่าช่วงด้วย หรือไม่
คู่สัญญาอาจพิจารณาแนบเอกสารที่เกี่ยวข้องกับสัญญาเช่าช่วง เพื่อความชัดเจนและความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกันระหว่างคู่สัญญา เช่น
- เอกสารแสดงการถือครองกรรมสิทธิ์/เอกสารทางทะเบียนที่กรมที่ดินออกให้ (เช่น โฉนดที่ดิน เอกสารแสดงกรรมสิทธิ์ในห้องชุด)
- รายการทรัพย์สิน/ภาพถ่ายทรัพย์สินที่เช่าช่วง (เช่น รูปภาพของอสังหาริมทรัพย์ แบบโครงสร้างอาคาร รายการเครื่องใช้ไฟฟ้า ระบบปรับอากาศ เครื่องครัว เฟอร์นิเจอร์)
- เอกสารเกี่ยวกับการเช่าสิ่งปลูกสร้าง/อสังหาริมทรัพย์ในลำดับแรกหรือในลำดับก่อนหน้า (เช่น สัญญาเช่าระหว่างเจ้าของกรรมสิทธิ์/ผู้ให้เช่าและผู้เช่าคนก่อนหน้า หนังสือยินยอมให้เช่าช่วง)
ในกรณีที่มีการใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินอื่นที่ไม่รวมอยู่ในค่าเช่า (เช่น เฟอร์นิเจอร์ ระบบไฟฟ้า ระบบน้ำประปา สถานที่จอดรถ หรือบริการต่างๆ) คู่สัญญาสามารถกำหนดอัตราค่าบริการต่างๆ นั้นไว้ในสัญญาเช่าช่วงด้วยก็ได้ หรือคู่สัญญาอาจพิจารณาทำสัญญาบริการเพื่อรองรับค่าบริการและรายละเอียดขอบเขตบริการดังกล่าวแยกเป็นสัญญาอีกฉบับหนึ่งก็ได้
สัญญาเช่าช่วงจำเป็นจะต้องจดทะเบียนกับหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง หรือไม่
ในกรณีที่คู่สัญญาตกลงกำหนดระยะเวลาการเช่าในสัญญาเช่าช่วงเกินกว่า 3 ปี คู่สัญญาจะต้องไปจดทะเบียนการเช่ากับสำนักงานที่ดินและทำสัญญาตามแบบที่กฎหมายกำหนดซึ่งคู่สัญญาอาจมีค่าใช้จ่ายที่ต้องพิจารณาจัดเตรียมในการจดทะเบียนการเช่าอสังหาริมทรัพย์ (เช่น ค่าธรรมเนียมจดทะเบียน)
สัญญาเช่าช่วงจำเป็นจะต้องมีพยานลงนามด้วย หรือไม่
ไม่จำเป็น กฎหมายไม่ได้กำหนดให้สัญญาเช่าช่วงจำเป็นจะต้องมีพยานลงนามด้วย
อย่างไรก็ดี คู่สัญญาอาจพิจารณาจัดให้มีพยานลงนามในสัญญาเช่าช่วงตามที่เห็นสมควรด้วยก็ได้ ในกรณีเช่นนี้ พยานควรเป็นบุคคลผู้มีความสามารถในการทำนิติกรรมอย่างสมบูรณ์ (เช่น ผู้บรรลุนิติภาวะ อายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ ไม่เป็นบุคคลวิกลจริตหรือบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นผู้เสมือนไร้ความสามารถ ไม่เป็นผู้ทุพพลภาพ) และไม่ใช่บุคคลที่มีหน้าที่/ภาระผูกพันตามสัญญาเช่าช่วง (เช่น คู่สัญญา)
มีค่าใช้จ่ายใดบ้างที่เกี่ยวข้องในการจัดทำสัญญาเช่าช่วง
คู่สัญญาอาจมีค่าใช้จ่ายที่ต้องพิจารณาจัดเตรียมในการจัดทำสัญญาเช่าช่วง ดังต่อไปนี้
- อากรแสตมป์ เนื่องจากสัญญาเช่าช่วงและคู่ฉบับเป็นสัญญาที่กฎหมายกำหนดให้ต้องชำระอากรแสตมป์ คู่สัญญาจึงมีหน้าที่นำสัญญาที่ลงนามเรียบร้อยแล้วไปชำระอากรแสตมป์ตามอัตรา ระยะเวลา และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด ในกรณีที่ไม่ชำระอากร ศาลจะไม่รับฟังสัญญาที่ไม่ได้ชำระอากรโดยสมบูรณ์เป็นพยานหลักฐาน อีกทั้ง ยังมีค่าปรับการไม่ชำระอากรแสตมป์ และอาจมีโทษทางอาญาอีกด้วย
- ค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนการเช่าอสังหาริมทรัพย์ ในกรณีที่คู่สัญญาตกลงกำหนดระยะเวลาการเช่าช่วงเกินกว่า 3 ปี คู่สัญญาจะต้องไปจดทะเบียนการเช่ากับสำนักงานที่ดินและทำสัญญาตามแบบที่กฎหมายกำหนดซึ่งคู่สัญญาอาจมีค่าใช้จ่ายที่ต้องพิจารณาจัดเตรียมในการจดทะเบียนการเช่าอสังหาริมทรัพย์ (เช่น ค่าคำขอ ค่าธรรมเนียมจดทะเบียน ค่าอากรแสตมป์)
- ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยทั่วไปเจ้าของสิ่งปลูกสร้าง/อสังหาริมทรัพย์มีหน้าที่ต้องชำระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง อย่างไรก็ดี คู่สัญญาสามารถตกลงกันในสัญญาเช่าช่วงให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นผู้รับผิดชอบหรือตกลงร่วมกันรับผิดชอบก็ได้
กฎหมายใดบ้างที่เกี่ยวข้องกับสัญญาเช่าช่วง
กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำสัญญาเช่าช่วงมี ดังต่อไปนี้
ความช่วยเหลือจากทนายความ
คุณสามารถเลือกที่จะปรึกษาทนายความได้ในกรณีที่คุณต้องการความช่วยเหลือ
ทนายความสามารถช่วยคุณได้โดยทำการตอบคำถามของคุณหรือให้ความช่วยเหลือในกระบวนการต่าง ๆ จะมีการเสนอตัวเลือกดังกล่าวไว้ให้คุณในตอนท้ายของเอกสาร
แก้ไขแบบฟอร์มได้อย่างไร
คุณกรอกแบบสอบถามสำหรับป้อนข้อมูลแล้วจะเห็นได้ว่าระบบของเราจะค่อย ๆ สร้างเอกสารขึ้นเองโดยอัตโนมัติตามคำตอบที่คุณกรอกเข้าไป
ในตอนสุดท้าย คุณจะได้รับเอกสารในรูปแบบ Word และ PDF คุณสามารถแก้ไขและนำเอกสารไปใช้อีกได้