เริ่มต้นธุรกิจด้วยการจัดตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัด

ปรับปรุงล่าสุด ปรับปรุงล่าสุด19 มกราคม 2021

ในการดำเนินธุรกิจไม่ว่าจะเป็นการดำเนินธุรกิจขนาดเล็ก ขนาดกลาง หรือขนาดใหญ่ และไม่ว่าจะดำเนินธุรกิจในกลุ่มประเภทกิจการหรือในกลุ่มอุตสาหกรรมใด สิ่งที่สำคัญไม่แพ้ปัจจัยอื่นที่ผู้ประกอบธุรกิจจะต้องพิจารณาในการเริ่มดำเนินธุรกิจอย่างหนึ่งก็คือรูปแบบองค์กรธุรกิจที่จะใช้ในการดำเนินธุรกิจนั้นๆ (เช่น บุคคลธรรมดา ห้างหุ้นส่วน หรือบริษัท) โดยแต่ละรูปแบบก็มีลักษณะ ข้อดี ข้อจำกัดที่แตกต่างกันไป เช่น

  • จำนวนผู้ร่วมเป็นเจ้าของหรือร่วมลงทุน
  • การจำกัดความรับผิดหรือแยกความรับผิดของกิจการออกจากผู้เป็นเจ้าของ
  • อัตราภาษีและสิทธิประโยชน์ทางภาษี
  • ภาระหน้าที่การปฏิบัติตามกฎหมาย
  • ความน่าเชื่อถือของกิจการ

ผู้ใช้งานอาจศึกษาลักษณะ ข้อดี ข้อจำกัดของแต่ละรูปแบบองค์กรธุรกิจเพิ่มเติมได้จาก คู่มือทางกฎหมาย: รูปแบบองค์กรธุรกิจแบบใดที่เหมาะสมกับลักษณะกิจการของท่านที่สุด (เช่น บุคคลธรรมดา ห้างหุ้นส่วน บริษัท) บนเว็บไซต์ของเรา

ห้างหุ้นส่วนจำกัด คืออะไร?

ห้างหุ้นส่วน คือ องค์กรธุรกิจประเภทหนึ่งซึ่งเกิดจาก บุคคลธรรมดาตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป (เช่น นายสมชายกับนางสมใจ) ตกลงจะเข้าทำกิจการหรือธุรกิจร่วมกัน (เช่น เข้าทำสัญญาเข้าหุ้นส่วน (Partnership Agreement)) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแบ่งปันผลกำไรจากการดำเนินกิจการหรือธุรกิจนั้น โดยการตกลงจะเข้าทำกิจการ ธุรกิจร่วมกัน หรือการเข้าหุ้นนั้น ผู้เป็นหุ้นส่วนอาจนำ เงิน ทรัพย์สิน (เช่น อาคาร ที่ดิน อุปกรณ์) หรือแรงงาน (เช่น การทำงานให้กับกิจการ) ของตนมาเข้าหุ้นเพื่อลงทุนและใช้ในการดำเนินกิจการของห้างหุ้นส่วนนั้นก็ได้ อาจกล่าวได้ว่า ห้างหุ้นส่วนก็คือกิจการหรือธุรกิจที่มีเจ้าของตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปร่วมกันลงทุนและ/หรือบริหารจัดการกิจการ

โดย ห้างหุ้นส่วนนั้น สามารถ เป็นได้เป็น 3 ประเภท ซึ่งมีวิธีการจัดตั้ง ลักษณะ และข้อจำกัดที่แตกต่างกันไป ดังต่อไปนี้

(ก) ห้างหุ้นส่วนสามัญ
(ข) ห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียน
(ค) ห้างหุ้นส่วนจำกัด

สำหรับ ห้างหุ้นส่วนจำกัดนั้น จะมีลักษณะเพิ่มเติม ดังต่อไปนี้

  • มีการจดทะเบียนธุรกิจกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์
  • เป็นนิติบุคคลแยกออกจากผู้เป็นหุ้นส่วน
  • เป็นหน่วยภาษีแยกจากผู้เป็นหุ้นส่วนและเสียภาษีเงินได้ในรูปแบบของภาษีเงินได้นิติบุคคล
  • มีผู้เป็นหุ้นส่วนแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ

(1) หุ้นส่วนที่จำกัดความรับผิด จะมีการแบ่งแยกความรับผิดระหว่างทรัพย์สินส่วนตัวกับทรัพย์สินที่นำมาเข้าหุ้นในกิจการ และ
(2) หุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิด จะไม่มีการแบ่งแยกหรือจำกัดความรับผิดระหว่างทรัพย์สินส่วนตัวกับทรัพย์สินที่นำมาเข้าหุ้นในกิจการ ซึ่งหุ้นส่วนประเภทนี้เท่านั้นที่สามารถเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนได้

โดยในบทความนี้ จะอธิบายถึงการเริ่มต้นธุรกิจด้วยการจัดตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัด

สาเหตุที่ผู้ประกอบธุรกิจเลือกจัดตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัด

สาเหตุที่ผู้ประกอบธุรกิจเลือกจัดตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัดแทนการเลือกใช้รูปแบบองค์กรธุรกิจรูปแบบอื่น อาจด้วยเนื่องจาก

  • ห้างหุ้นส่วนจำกัดจะเสียภาษีเงินได้ของกิจการในรูปแบบของภาษีเงินได้นิติบุคคลซึ่งมีอัตราภาษีที่คงที่ และได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีของนิติบุคคล
  • ห้างหุ้นส่วนจำกัดมีภาระหน้าที่ในการจัดทำบัญชีตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในประมวลรัษฎากร ทำให้กิจการมีการบันทึกและตรวจสอบทางการเงินที่น่าเชื่อถือ
  • ห้างหุ้นส่วนจำกัดมีการแบ่งแยกความรับผิดของผู้เป็นหุ้นส่วนออกจากตัวห้างหุ้นส่วน ในกรณีหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด อย่างไรก็ดี หุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดอาจต้องร่วมรับผิดโดยไม่แบ่งแยกหรือจำกัดความรับผิดด้วยในบางกรณี (เช่น สอดเข้าไปจัดการงานของห้างหุ้นส่วน)
  • ห้างหุ้นส่วนจำกัดจะมีภาระหน้าที่การปฏิบัติตามกฎหมาย หรือกระบวนการในการบริการจัดการงานของห้างหุ้นส่วนจำกัดที่ซับซ้อนกว่าห้างหุ้นส่วนประเภทอื่นๆ แต่น้อยกว่าบริษัทจำกัด ห้างหุ้นส่วนจำกัดจึงมีความน่าเชื่อถือ ความสามารถและทางเลือกในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระดับหนึ่ง
  • ผู้เป็นหุ้นส่วนซึ่งเป็นเจ้าของห้างหุ้นส่วนจำกัดอาจโอนส่วนของตนให้แก่บุคคลอื่นเพื่อขายหรือให้สิทธิความเป็นเจ้าของห้างหุ้นส่วนจำกัดนั้นได้ อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนแปลงตัวหุ้นส่วน อาจมีเงื่อนไขหรือข้อจำกัดตามสัญญาเข้าหุ้นส่วนหรือตามกฎหมาย (เช่น ต้องได้รับความยินยอมจากหุ้นส่วนที่เหลือทุกคนก่อน) ด้วยเหตุนี้ห้างหุ้นส่วนจำกัดจึงมีความคล่องตัวในการเปลี่ยนแปลงผู้เป็นเจ้าของกิจการในระดับหนึ่ง

ขั้นตอนการจัดตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัด

ในการจัดตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัด ผู้ประกอบธุรกิจอาจมีข้อพิจารณาในการศึกษาข้อมูล ตัดสินใจ และดำเนินการ ดังต่อไปนี้

(1) การตั้งชื่อและจองชื่อของห้างหุ้นส่วนจำกัด

ในการตั้งชื่อห้างหุ้นส่วนจำกัด ผู้เป็นหุ้นส่วนอาจศึกษาข้อมูลและตั้งชื่อห้างหุ้นส่วนจำกัดได้ตามที่เจ้าของต้องการ โดยที่อาจตั้งชื่อห้างหุ้นส่วนจำกัดให้สอดคล้องกับชื่อของกิจการหรือชื่อของธุรกิจเพื่อหลีกเลี่ยงความสับสนของคู่ค้าและลูกค้าของกิจการก็ได้

อย่างไรก็ดี ชื่อของห้างหุ้นส่วนจำกัดจะต้องสอดคล้องตามกฎหมาย ระเบียบ และหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการตั้งชื่อนิติบุคคล เนื่องจากจะต้องมีการจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัดกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เช่น

  • ชื่อของห้างหุ้นส่วนจำกัดจะต้องไม่มีการใช้ชื่อของหน่วยงานของรัฐ เช่น ชื่อกระทรวง ทบวง กรม ส่วนราชการ
  • ชื่อของห้างหุ้นส่วนจำกัดจะต้องไม่เหมือนหรือพ้อง หรือคล้ายคลึงกับชื่อที่ได้มีการจดทะเบียนหรือได้จองไว้ในระบบฐานข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าแล้ว
  • ชื่อของห้างหุ้นส่วนจำกัดต้องไม่มีการใช้คำที่ขัดต่อแนวนโยบายแห่งรัฐ คำที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
  • ชื่อของห้างหุ้นส่วนจำกัดที่ใช้ภาษาต่างประเทศต้องมีความหมายหรือเสียงเรียกขานตรงกับชื่อภาษาไทย
  • ชื่อของห้างหุ้นส่วนจำกัดต้องไม่มีการใช้คำหรือตัวอักษรที่ไม่ถูกหลักภาษาไทย

นอกจากนี้ ชื่อของห้างหุ้นส่วนจำกัดอาจมีข้อจำกัดตามกฎหมายห้างหุ้นส่วน เช่น ชื่อของห้างหุ้นส่วนจำกัดจะต้องไม่ใช้ชื่อของหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดมาเรียกเป็นชื่อห้างหุ้นส่วน เนื่องจากผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดคนนั้นอาจจะต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกเสมือนว่าเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด

เมื่อผู้ประกอบธุรกิจตัดสินใจและเลือกชื่อที่จะใช้เป็นชื่อของห้างหุ้นส่วนจำกัดได้แล้ว ผู้เป็นหุ้นส่วน อาจดำเนินการตรวจสอบชื่อนิติบุคคลและจองชื่อนิติบุคคลผ่านระบบฐานข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เพื่อใช้ในการดำเนินการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัดต่อไป

อนึ่ง ชื่อที่ได้รับจองไว้นั้นจะต้องมีการยื่นจดทะเบียนใช้ชื่อที่จองภายใน 30 วันนับจากวันที่ได้รับจอง

ผู้ใช้งานอาจศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับข้อจำกัดในการใช้ชื่อห้างหุ้นส่วนจำกัดได้จาก คำแนะนำในการตรวจสอบและจองชื่อนิติบุคคลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า และระเบียบสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกลางว่าด้วยการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนและบริษัท

(2) สถานที่ตั้งของกิจการ

สถานที่ตั้งของกิจการถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญในการดำเนินธุรกิจโดยเฉพาะการประกอบธุรกิจทางการค้า (เช่น ขายสินค้าและ/หรือบริการ) นอกจากสถานที่ตั้งของกิจการจะเป็นยุทธศาสตร์ทางธุรกิจของกิจการแล้ว (เช่น การสัญจรของผู้คน ความสะดวกในการเข้าถึง ทำเลที่ตั้ง ความสามารถในการประกอบการค้า) สถานที่ตั้งของกิจการที่จะใช้จดทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัดนั้นก็จะถือเป็นสำนักงานแห่งใหญ่ของห้างหุ้นส่วนที่จดทะเบียนนั้นด้วย ซึ่งสำนักงานแห่งใหญ่นี้ก็คือที่อยู่ของห้างหุ้นส่วนจำกัดนั่นเอง กล่าวคือเป็นที่อยู่สำหรับการรับ-ส่งเอกสารสำคัญ เอกสารคำบอกกล่าวทางกฎหมายต่างๆ

นอกจากนี้ ในกรณีที่ธุรกิจมีการประกอบกิจการหลายแห่ง อาจพิจารณาจดทะเบียนสถานประกอบกิจการเหล่านั้นเป็นสาขาของห้างหุ้นส่วนจำกัดด้วย

(3) การประชุม เจรจา และการตกลงข้อตกลงสำคัญในเข้าหุ้นส่วน

เมื่อผู้ประกอบการต่างๆ มีความชัดเจนที่จะเข้ารวมเป็นหุ้นส่วนกันแล้ว ก็อาจนัดประชุมเจรจารายละเอียดสำคัญต่างๆ ของห้างหุ้นส่วนจำกัด โดยอาจมีประเด็นพิจารณาสำคัญต่างๆ เช่น

  • การกำหนดชื่อและประเภทของห้างหุ้นส่วน
  • การกำหนดวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งห้างหุ้นส่วน เช่น เพื่อประกอบกิจการหรือดำเนินการอันใดอันหนึ่ง หรือหลายๆ อย่าง โดยห้างหุ้นส่วนจะสามารถประกอบกิจการหรือดำเนินการได้เฉพาะที่ระบุไว้ในวัตถุประสงค์ เท่านั้น
  • การกำหนดที่ตั้งสำนักงานแห่งใหญ่ และสำนักงานสาขา (ถ้ามี) ของห้างหุ้นส่วน
  • การกำหนดจำนวนทุน รูปแบบ และสัดส่วนการเข้าหุ้น และการตีราคาทรัพย์สินหรือแรงงาน กรณีที่ผู้เป็นหุ้นส่วนไม่ได้เข้าหุ้นด้วยตัวเงิน

ผู้ใช้งานสามารถศึกษาแนวทางการกำหนดวัตถุประสงค์ของห้างหุ้นส่วนจำกัดได้ที่ หลักเกณฑ์การกำหนดวัตถุประสงค์ห้างหุ้นส่วนและบริษัทของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า

  • การกำหนดจำพวกหุ้นส่วน เช่น หุ้นส่วนที่จำกัดความรับผิด และหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิด โดยที่หุ้นส่วนที่จำกัดความรับผิดจะมีการแบ่งแยกความรับผิดระหว่างทรัพย์สินส่วนตัวกับทรัพย์สินที่นำมาเข้าหุ้นในกิจการ ในขณะที่ หุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดจะต้องรับผิดชอบกับความรับผิดต่างๆ ของห้างหุ้นส่วนทั้งหมดโดยไม่มีการจำกัดหรือแบ่งแยกความรับผิด
  • การแต่งตั้งหุ้นส่วนผู้จัดการ (Managing Partner) ให้มีหน้าที่บริหารจัดการงานของกิจการ และค่าตอบแทนหุ้นส่วนผู้จัดการ (ถ้ามี) โดยที่ หุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดเท่านั้นที่จะสามารถเป็น หุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนได้
  • การกำหนดขอบเขตอํานาจของหุ้นส่วนผู้จัดการ
  • การกำหนดหลักเกณฑ์การแบ่งกำไรและขาดทุน เช่น เงินปันผล เงินดอกเบี้ยต่างๆ

ผู้ใช้งานอาจจัดทำ รายงานการประชุมทางธุรกิจ เป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อให้การประชุมเจรจาห้างหุ้นส่วนมีหลักฐานเป็นหนังสือ และเพื่อใช้เป็นเอกสารประกอบในการจัดทำสัญญาเข้าหุ้นส่วนหรือสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วน (Partnership Agreement) ต่อไป

(4) การจัดทำสัญญาเข้าหุ้นส่วนหรือสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วน (Partnership Agreement)

สัญญาเข้าหุ้นส่วนหรือสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วน (Partnership Agreement) คือสัญญาที่ผู้เป็นหุ้นส่วนเข้าทำต่อกันเพื่อจัดตั้งห้างหุ้นส่วนขึ้นและกำหนดวิธี หลักเกณฑ์ กฎ ระเบียบต่างๆ ที่ใช้ในการดำเนินกิจการต่างๆ ของห้างหุ้นส่วนนั้นรวมถึงกำหนดความสัมพันธ์ หน้าที่ระหว่างหุ้นส่วนด้วยกันเอง เช่น

  • ชื่อและประเภทของห้างหุ้นส่วน
  • ที่ตั้งสำนักงานแห่งใหญ่ และสำนักงานสาขา (ถ้ามี) ของห้างหุ้นส่วน
  • การกำหนดจำนวนทุน รูปแบบ และสัดส่วนการเข้าหุ้น และการตีราคาทรัพย์สินหรือแรงงาน กรณีที่ผู้เป็นหุ้นส่วนไม่ได้เข้าหุ้นด้วยตัวเงิน
  • วัตถุประสงค์ของห้างหุ้นส่วน
  • การกำหนดจำพวกหุ้นส่วน เช่น หุ้นส่วนที่จำกัดความรับผิด และหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิด
  • การแต่งตั้งหุ้นส่วนผู้จัดการ (Managing Partner) และค่าตอบแทนหุ้นส่วนผู้จัดการ (ถ้ามี) รวมถึงขอบเขตอํานาจของหุ้นส่วนผู้จัดการ
  • การกำหนดหลักเกณฑ์การแบ่งกำไรและขาดทุน เช่น เงินปันผล เงินดอกเบี้ยต่างๆ
  • การประชุม การออกเสียง และการลงมติในเรื่องต่างๆ
  • การเปลี่ยนแปลงตัวหุ้นส่วน เช่น หุ้นส่วนเข้าใหม่ หุ้นส่วนออก
  • การห้ามผู้เป็นหุ้นส่วนค้าแข่ง
  • ความรับผิดของผู้เป็นหุ้นส่วนในกรณีต่างๆ
  • การเลิกห้างหุ้นส่วน (ถ้ามี)
  • วิธีและกระบวนการระงับข้อพิพาท
  • รายละเอียดตราประทับของห้างหุ้นส่วน

(5) ตราประทับของห้างหุ้นส่วน

แม้กฎหมายห้างหุ้นส่วน แพ่งปละพาณิชย์ได้ไม่กำหนดบังคับให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดต้องจดทะเบียน ดวงตราสำคัญหรือตราประทับของห้างหุ้นส่วนไว้ แต่เพื่อเป็นสร้างความน่าเชื่อถือและเพื่อความชัดเจน ห้างหุ้นส่วนควรจัดให้มีดวงตราประทับของห้างหุ้นส่วนและกำหนดให้ตราประทับเป็นเงื่อนไขในการลงนามของหุ้นส่วนผู้จัดการในการลงนามผูกพันทางกฎหมายต่างๆ (เช่น หุ้นส่วนผู้จัดการ 2 คนลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญ) ทั้งนี้ เพื่อความชัดเจนว่าหุ้นส่วนคนดังกล่าวลงนามในนามส่วนตัวหรือในนามของห้างหุ้นส่วน และเพื่อความสอดคล้องกับหลักการร่วมกันบริหารจัดการ

ในกรณีที่ ห้างหุ้นส่วนมีความประสงค์จะจัดให้มีดวงตราประทับของห้างหุ้นส่วนและจดทะเบียนดวงตรานั้น ห้างหุ้นส่วนอาจมีข้อพิจารณาตามหลักเกณฑ์การจัดทำตราของห้างหุ้นส่วนของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ดังต่อไปนี้

  • ตราของห้างหุ้นส่วนจะต้องไม่มีลักษณะ ดังต่อไปนี้

(1) เครื่องหมายตรามหาจักรีบรมราชวงศ์
(2) พระบรมราชาภิไธย พระปรมาภิไธยย่อของพระมหากษัตริย์ทุกรัชกาล และ พระนามาภิไธยย่อ ของสมเด็จพระอัครมเหสีหรือสมเด็จพระยุพราช
(3) พระบรมราชสัญลักษณ์ และพระราชสัญลักษณ์ของพระมหากษัตริย์ สมเด็จพระอัครมเหสี และสมเด็จพระยุพราช
(4) พระมหามงกุฎ มงกุฎขัตติยราชนารี หรือเครื่องราชอิสริยาภรณ์อื่นใดที่ใกล้เคียงกับมงกุฎ
(5) ฉัตรต่างๆ อันเป็นลักษณะของเครื่องประกอบพระบรมราชอิสริยยศ
(6) ตราแผ่นดิน ตราราชการ ตราครุฑพ่าห์ ธงหลวง ธงชาติ หรือธงราชการ เว้นแต่จะได้รับ พระราชทานพระบรมราชานุญาต
(7) พระราชลัญจกร และลัญจกรในราชการ
(8) เครื่องหมายกาชาด ชื่อกาชาด กาเจนีวา เครื่องหมายราชการ หรือเครื่องหมายใด ๆ ที่ขัดต่อรัฐประศาสโนบายหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
(9) เครื่องหมายที่ราชการ องค์การ หน่วยงานของรัฐหรือองค์การระหว่างประเทศ ขอสงวนไว้
(10) สัญลักษณ์ประจำชาติไทย ได้แก่ ช้างไทย ดอกราชพฤกษ์ และ ศาลาไทย

  • ตราของห้างหุ้นส่วนจะมีชื่อของห้างหุ้นส่วนหรือไม่ก็ได้
  • ในกรณีที่มีชื่อของห้างหุ้นส่วนในตรา จะต้องปรากฏชื่อห้างหุ้นส่วนอย่างชัดเจนและต้องตรงกับชื่อที่ขอจดทะเบียนหรือตรงกับชื่อภาษาต่างประเทศที่ขอใช้ และต้องมีคำแสดงประเภทของนิติบุคคลด้วย เช่น ห้างหุ้นส่วนจำกัด สมชายขายดี
  • ตราของห้างหุ้นส่วนจะเป็นตราประทับ (เช่น ตรายาง) หรือ เป็นตราดุนหรือตรานูน ก็ได้
  • ตราของห้างหุ้นส่วน สามารถมีและจดทะเบียนได้มากกว่า 1 ดวง
  • ในกรณีที่ตราของห้างหุ้นส่วนมีมากกว่า 1 ดวง จะต้องระบุเงื่อนไขการใช้ตราแต่ละดวงโดยละเอียดด้วย เช่น ตราดวงใดใช้ในกรณีใดบ้าง

(6) การเรียกให้ชำระเงินลงหุ้น

เมื่อผู้เป็นหุ้นส่วนได้เจรจาตกลงสัดส่วนการลงทุนในห้างหุ้นส่วนและได้จัดทำสัญญาเข้าหุ้นส่วนเรียบร้อยแล้ว ห้างหุ้นส่วน โดย หุ้นส่วนผู้จัดการ อาจเรียกให้ผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคน ชำระเงินลงหุ้นส่วนของตน ตามจำนวนและตามกำหนดระยะเวลาที่ตกลงกันในสัญญา

ในกรณีที่มีการตกลงเอาทรัพย์สินมาลงหุ้นแทนเงิน นอกจากการตีราคาแล้ว ผู้เป็นหุ้นส่วนจะต้องชำระโดยการส่งมอบทรัพย์สินดังกล่าวให้แก่ห้างหุ้นส่วน

นอกจากนี้ ในกรณีที่ทรัพย์สินที่นำมาลงหุ้นเป็นทรัพย์ที่มีทะเบียน (เช่น อาคาร ที่ดิน) ผู้เป็นหุ้นส่วนอาจต้องมีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนด้วย (เช่น การจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ หรือการจดทะเบียนสิทธิการเช่า) ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับรูปแบบการนำทรัพย์สินมาลงหุ้นนั้น ว่าเป็นการให้ขาด หรือเพียงการให้ใช้ภายในระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น

เมื่อห้างหุ้นส่วนได้รับชำระเงินลงหุ้นครบถ้วนถูกต้องตามจำนวนจากหุ้นส่วนแล้ว หุ้นส่วนผู้จัดการอาจออก ใบสำคัญรับเงิน ให้แก่หุ้นส่วนเพื่อเป็นหลักฐานแห่งการรับชำระเงินลงหุ้นนั้นและเพื่อใช้เป็นเอกสารประกอบการจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนด้วย

(7) การดำเนินการจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วน

เมื่อได้ดำเนินกระบวนการต่างๆ ข้างต้นครบถ้วนแล้ว หุ้นส่วนผู้จัดการอาจดำเนินการยื่นคำขอจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัดกับสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ดังต่อไปนี้

(ก) การเจรจาตกลงเงื่อนไขสำคัญในการเข้าหุ้นส่วนและจัดทำสัญญาเข้าหุ้นส่วนหรือสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วน (Partnership Agreement) เพื่อความชัดเจนระหว่างหุ้นส่วน การจัดทำดวงตราของห้างหุ้นส่วน และการชำระเงินลงหุ้น
(ข) การจองชื่อนิติบุคคล
(ค) หุ้นส่วนผู้จัดการจัดเตรียมคำขอและเอกสารประกอบการจดทะเบียน
(ง) ยื่นคำขอจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัด

โดยที่ ชื่อที่ได้รับจองไว้ตามข้อ (ข) นั้นจะต้องมีการยื่นจดทะเบียนใช้ชื่อที่จอง ตามข้อ (ง) ภายใน 30 วันนับจากวันที่ได้รับจอง

ทั้งนี้ เมื่อได้ดำเนินการจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัดและนายทะเบียนได้รับจดทะเบียนไว้เรียบร้อยแล้ว ห้างหุ้นส่วนจำกัดจะมีสถานะเป็นนิติบุคคลแยกออกต่างหากจากหุ้นส่วนทั้งหลาย ดังนั้น หุ้นส่วนผู้จัดการควรดำเนินการจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัดให้เรียบร้อยในทันที โดยในระหว่างที่ยังไม่ได้มีการจดทะเบียนให้เรียบร้อย ตามกฎหมายจะถือว่าเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหลายต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้ของห้างหุ้นส่วนที่ได้ก่อขึ้นโดยไม่มีการจำกัดจำนวน

อนึ่ง ผู้ประกอบธุรกิจที่มีความประสงค์จะจัดตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัด สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการดำเนินการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัด (เช่น ค่าธรรมเนียม เอกสารประกอบคำขอ สถานที่รับจดทะเบียน กรอบระยะเวลา) ได้ที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า

ในกรณีที่ หุ้นส่วนผู้จัดการไม่สะดวกไปดำเนินการจดทะเบียนที่สำนักทะเบียนด้วยตนเอง หุ้นส่วนผู้จัดการอาจจัดทำ หนังสือมอบอำนาจ เพื่อมอบหมายให้บุคคลอื่นไปดำเนินการจดทะเบียนแทนได้ (เช่น ทนายความ) ในกรณีเช่นนี้จะต้องมีการรับรองลายมือชื่อตามแบบและหลักเกณฑ์ที่สำนักทะเบียนกำหนด (เช่น ทนายความ)

(8) ดำเนินการอื่นๆ

เมื่อห้างหุ้นส่วนได้จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายแล้วจะถือว่าเป็นอีกบุคคลหนึ่งแยกออกต่างหาก จึงอาจต้องมีการดำเนินการอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจหรือกิจการนั้นๆ โดยเฉพาะ เช่น

  • การเปิดบัญชีธนาคารของห้างหุ้นส่วนเพื่อใช้ในการทำธุรกรรมของห้างหุ้นส่วนโดยเฉพาะ
  • การขออนุญาตประกอบธุรกิจบางประเภทที่มีกฎหมายควบคุม
  • การจัดทำประกันภัยทางธุรกิจ

จากที่กล่าวข้างต้น การดำเนินการจัดตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัดไม่ใช่กระบวนการที่ยุ่งยากซับซ้อนแต่เป็นกระบวนการที่ต้องใช้ความละเอียดความรอบคอบ และความเข้าใจของผู้ที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบธุรกิจอาจปรึกษาทนายความ ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจไม่แน่ใจในกระบวนการจัดตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัด

แบบฟอร์มและตัวอย่างต่าง ๆ ที่สามารถดาวน์โหลดได้ในรูปแบบ Word และ PDF

ให้คะแนนคู่มือฉบับนี้