ข้อควรพิจารณาในการจ้างคนต่างด้าวทำงาน

ปรับปรุงล่าสุด ปรับปรุงล่าสุด11 กันยายน 2019
คะแนน คะแนน 4.5 - 5 คะแนนโหวต

ทำไมจึงต้องจ้างคนงานต่างด้าว?

ก่อนที่จะกล่าวถึงสาเหตุและความจำเป็นที่นายจ้างในประเทศไทยต้องจ้างลูกจ้างหรือพนักงานต่างด้าวหรือต่างชาติให้ทำงานให้นั้น ผู้อ่านอาจต้องทำความเข้าใจเสียก่อนว่า การจ้างคนงานต่างด้าวทำงานนั้น หมายถึง การที่นายจ้างให้ลูกจ้างหรือพนักงานซึ่งเป็นคนต่างด้าวนั้นทำงานให้ ไม่ว่าจะเป็นการทำงานด้วยแรงงานหรือด้วยความรู้ความสามารถก็ตาม และไม่ว่ามีค่าจ้างหรือผลประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นหรือไม่ก็ตาม โดยที่ ลูกจ้างหรือพนักงานซึ่งเป็นคนต่างด้าวก็คือ บุคคลใดๆ ที่ไม่ได้มีสัญชาติไทย (เช่น สัญชาติลาว จีน ญี่ปุ่น อังกฤษ อเมริกัน) บุคคลเหล่านี้ถือเป็นคนต่างด้าวทั้งสิ้น

โดยทั่วไปอาจแบ่งคนต่างด้าวหรือคนต่างชาติที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาทำงานในประเทศไทยได้ ดังต่อไปนี้

  • ประเภทที่มีทักษะและความชำนาญพิเศษ (ทั่วไป) เช่น ถูกส่งมาจากบริษัทแม่ในต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยหรือเข้ามาทำงานชั่วคราวในงานที่ต้องใช้ทักษะและเทคโนโลยีชั้นสูง ใช้ความสามารถเฉพาะด้าน ความชำนาญเฉพาะด้าน หรือความสามารถทางการสื่อสาร
  • ประเภทที่เข้ามาทำงานตามข้อตกลงว่าด้วยการจ้างแรงงานต่างด้าวระหว่างประเทศไทยกับประเทศคู่ภาคี (ประเภท MOU) เช่น งานกรรมกร และคนรับใช้ในบ้าน โดยจะต้องเป็นประเทศที่มีข้อตกลงดังกล่าวกับประเทศไทยแล้ว เช่น ลาวและกัมพูชา

นอกจากนี้ยังมีประเภทอื่นๆ เช่น คนต่างด้าวซึ่งเข้ามาทำงานในประเทศไทยตามกฎหมายพิเศษ (เช่น กฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน และกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรม หรือประกาศคณะปฏิวัติฉบับ ที่ 322) คนต่างด้าวซึ่งเข้ามาในประเทศไทยเพื่อทำงานอันจำเป็นและเร่งด่วนที่มีระยะเวลาทำงานไม่เกิน 15 วัน (เช่น งานจัดประชุม บรรยาย สัมมนา การตรวจสอบภายใน งานควบคุมคุณภาพ งานตรวจสอบและแก้ไขปัญหาทางเทคนิค งานถ่ายภาพยนต์และภาพนิ่ง)

โดยการที่นายจ้างเลือกที่จะจ้างคนต่างด้าวให้ทำงานให้กับตนในประเทศแทนที่จะจ้างลูกจ้างหรือพนักงานคนไทย (บุคคลที่มีสัญชาติไทย) นั้น อาจเป็นไปด้วยเหตุผลและความจำเป็น ดังต่อไปนี้

(ก) ลักษณะพิเศษเฉพาะตัวของลูกจ้างต่างด้าว

งานที่นายจ้างจะให้ลูกจ้างหรือพนักงานต่างด้าวนั้นทำ อาจเป็นงานที่ต้องการความรู้ ความสามารถ ทักษะ ความชำนาญเฉพาะด้านของตัวลูกจ้างต่างด้าวคนนั้น รวมถึง ความขยันอดทน ซื่อสัตย์ในการปฏิบัติงาน เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์กับงานที่ทำให้แก่นายจ้างนั้นมากที่สุด ซึ่งเป็นผลประโยชน์กับกิจการของนายจ้างโดยตรง

(ข) ความมีประสิทธิภาพในการทำงานเมื่อเทียบกับอัตราค่าจ้าง

เมื่อนายจ้างพิจารณาเปรียบเทียบประสิทธิภาพการทำงานของลูกจ้างในอัตราค่าจ้างที่เท่ากันแล้ว นายจ้างอาจพบว่าลูกจ้างต่างชาติมีประสิทธิภาพการทำงานที่มากว่าลูกจ้างคนไทย ในบางกรณี (เช่น งานที่เกี่ยวกับการใช้แรงงาน หรืองานที่ต้องใช้ทักษะความชำนาญขั้นสูง) ทั้งนี้ อาจขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นด้วย เช่น ลักษณะของงานที่ทำ

(ค) การขาดแคลนแรงงาน

ในบางลักษณะงาน ในบางตำแหน่งงาน หรือในบางอุตสาหกรรม นายจ้างอาจไม่สามารถหาลูกจ้างที่มีคุณสมบัติหรือมีความประสงค์ที่จะทำงานในลักษณะหรือในตำแหน่งดังกล่าวได้จากลูกจ้างซึ่งมีสัญชาติไทย เช่น งานวิศวกรรรมบำรุงรักษาเครื่องจักรที่มีเทคโนโลยีสูงซึ่งนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งวิศวกรที่มีความรู้ความสามารถที่จะบำรุงรักษาเครื่องจักดังกล่าวได้มีเพียงวิศวกรของบริษัทผู้ผลิตเครื่องจักดังกล่าวที่ได้รับการอบรมแล้วเท่านั้น ซึ่งวิศวกรผู้นั้นเป็นคนจากต่างประเทศทั้งสิ้น หรือในกรณีงานกรรมกรที่ลูกจ้างต้องทำงานหนักและต้องย้ายที่อยู่ไปตามบริเวณสถานที่ก่อสร้าง อาจไม่เป็นงานที่ต้องการหรืองานที่หาผู้ประสงค์จะทำงานให้ได้ยากภายในประเทศ

(ง) เหตุผลและความจำเป็นทางธุรกิจอื่นๆ

นอกจากนี้ยังอาจมีเหตุผลและความจำเป็นทางธุรกิจอื่นทั้งจากฝ่ายนายจ้างและลูกจ้าง เช่น ในกรณีที่ลูกจ้างคือผู้ลงทุนจากต่างประเทศที่ร่วมลงทุนกับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนในประเทศไทยและมีความประสงค์จะเข้ามาทำงานในตำแหน่งที่สำคัญในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนดังกล่าว (เช่น กรรมการบริษัท ผู้บริหารระดับสูง) เพื่อมีส่วนร่วมในการกำกับดูแล ตรวจสอบ บริหาร หรือควบคุมกิจการที่ตนได้ร่วมลงทุนนั้น ตราบเท่าที่ไม่ขัดต่อกฎหมายการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว

ข้อควรพิจารณาในการจ้างคนต่างด้าวทำงานในประเทศไทย

ข้อควรพิจารณาสำหรับนายจ้างในการจ้างลูกจ้างหรือพนักงานที่เป็นคนต่างด้าวหรือต่างชาติให้ทำงานภายในประเทศไทย นายจ้างอาจมีข้อจำกัดทางกฎหมายการบริหารจัดการการทำงานคนต่างด้าว ที่น่าพิจารณา ดังต่อไปนี้

(1) การขออนุญาตทำงาน

กฎหมายกำหนดให้ โดยทั่วไป คนต่างด้าวหรือคนต่างชาติที่จะทำงานในประเทศไทยต้องมีใบอนุญาตทำงาน คนต่างด้าวหรือคนต่างชาตินั้นจึงจะสามารถทำงานในประเทศไทยได้อย่างถูกกฎหมาย รวมถึงนายจ้างจึงจะสามารถจ้างคนต่างด้าวหรือคนต่างชาตินั้นได้อย่างถูกกฎหมายเช่นกัน ซึ่งในการได้มาซึ่งใบอนุญาตทำงานนั้น ก็จะมีหลักเกณฑ์ เงื่อนไข ข้อจำกัด ข้อยกเว้นๆ รวมถึงค่าใช้จ่าย ตามกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว

(2) ประเภทและลักษณะการทำงาน

นอกจากคนต่างด้าวหรือคนต่างชาติจะสามารถทำงานในอาชีพหรือในตำแหน่งงานที่ขออนุญาตและได้รับอนุญาตเท่านั้น ซึ่งกำหนดไว้ในใบอนุญาตทำงานนั้นแล้ว คนต่างด้าวหรือคนต่างชาตินั้นจะไม่สามารถขออนุญาตในการทำงานในบางตำแหน่งหรือบางอาชีพอย่างเด็ดขาดซึ่งตำแหน่งหรืออาชีพดังกล่าวคืออาชีพที่รัฐบาลสงวนไว้ให้สำหรับคนไทยเท่านั้นซึ่งเนื่องมากจาก ความสามารถในการแข่งกันในการประกอบอาชีพ ความสามารถทางเศรษฐกิจ

งานที่ห้ามคนต่างด้าวหรือคนต่างชาติตามกฎหมายกำหนดงานในอาชีพและวิชาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวทำ เช่น งานกสิกรรม งานขับขี่ยานพาหนะ งานขายทอดตลาด บริการทางบัญชี งานตัดผม งานเสริมสวย งานทอ งานทำเครื่องดนตรีไทย งานทำเครื่องทอง เงิน หรือนาก งานทำบาตร งานทำพระพุทธรูป งานทำรองเท้า หมวก หรือเครื่องแต่งกาย วิชาชีพสถาปัตยกรรมที่เกี่ยวกับการก่อสร้าง งานทำเครื่องปั้นดินเผา มัคคุเทศก์ หรือจัดนำเที่ยว งานเลขานุการ งานทางกฎหมายหรือคดีความ

(3) คุณสมบัติของตัวลูกจ้าง

โดยในการขอใบอนุญาตทำงาน ลูกจ้างซึ่งเป็นคนต่างด้าวหรือคนต่างชาตินั้น จะต้องมีคุณสมบัติ เช่น

  • มีความรู้และความสามารถในการทำงานตามที่ขออนุญาต
  • ไม่เป็นบุคคลวิกลจริตหรือมีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
  • ไม่เป็นผู้เจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อน วัณโรคในระยะอันตราย โรคเท้าช้างในระยะปรากฏอาการอันเป็นที่รังเกียจแก่สังคม โรคติดยาเสพติดให้โทษอย่างร้ายแรง หรือโรคพิษสุราเรื้อรัง
  • ไม่เคยต้องโทษจำคุกในความผิดตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง หรือกฎหมายว่าด้วยการทำงานของคนต่างด้าวภายใน 1 ปีก่อนวันขอรับอนุญาตทำงาน
  • มีถิ่นฐานอยู่ในราชอาณาจักรหรือได้รับใบอนุญาตให้เข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว ตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง (เช่น Non-Immigrant B หรือ Non Immigrant L-A)

(4) ข้อจำกัดจำนวนการจ้างงาน

นายจ้างที่มีความประสงค์จะจ้างคนต่างด้าวหรือคนต่างชาตินั้น อาจไม่สามารถจ้างคนต่างด้าวหรือคนต่างชาติทำงานได้ตามจำนวนที่นายจ้างมีความต้องการ เนื่องจากในการขออนุญาตทำงาน นอกจากคุณสมบัติของลูกจ้างคนต่างด้าวหรือคนต่างชาตินั้นแล้ว นายจ้างแต่ละรายก็จะมีสิทธิจ้างคนต่างด้าวหรือคนต่างชาติทำงานได้ในจำนวนที่จำกัดตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด โดยอาจพิจารณาจากขนาดของกิจการ (เช่น ทุนจดทะเบียนหรือรายได้ของกิจการ) อัตราส่วนระหว่างการจ้างงานคนไทยกับคนต่างด้าวหรือคนต่างชาติ ลักษณะของการประกอบกิจการของนายจ้าง จำนวนการนำเข้าเงินลงทุนจากต่างประเทศ หรือจำนวนอื่นตามกฎหมายพิเศษ เช่น กฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน กฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรม

(5) ข้อจำกัดระยะเวลาการจ้าง

เนื่องจากในการให้อนุญาตทำงานนั้น ผู้ให้อนุญาตจะต้องกำหนดระยะเวลาการอนุญาตเอาไว้ โดยอ้างอิงตามระยะเวลาการจ้างงานที่นายจ้างประสงค์จะจ้างลูกจ้าง แต่อย่างไรก็ดี ใบอนุญาตทำงานก็ไม่สามารถออกให้มีระยะเวลาการอนุญาตได้เกินระยะเวลาของการอนุญาตให้อยู่ในประเทศได้ เช่น 1 ปี สำหรับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราวสำหรับติดต่อธุรกิจหรือทำงาน (Non-Immigrant B) หรือ 2 ปี สำหรับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราวสำหรับความร่วมมือด้านแรงงาน (Non-Immigrant L-A) อีกทั้งยังมีเงื่อนไขหรือกรอบเวลาเกี่ยวกับการต่อการตรวจลงตราอีกด้วย

(6) โทษทางกฎหมาย

การที่นายจ้างให้คนต่างด้าวหรือคนต่างชาติทำงานให้โดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือมีแต่ได้ปฏิบัติผิดข้อกำหนดหน้าที่เกี่ยวข้องตามกฎหมายเกี่ยวกับการทำงานของคนต่างด้าวนั้น ตัวนายจ้างเองรวมถึงลูกจ้างคนต่างด้าวหรือคนต่างชาติอาจมีโทษ ไม่ว่าโทษจำคุกและ/หรือปรับ เช่น

  • นายจ้างรับคนต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงาน
  • นายจ้างรับคนต่างด้าวเข้าทำงานที่มีลักษณะงานหรือเงื่อนไขต่างไปจากที่กำหนดไว้ในใบอนุญาต
  • นายจ้างไม่แจ้งการย้ายไปทำงานที่อื่นหรือการออกจากงานของคนต่างด้าวหรือคนต่างชาติที่ได้รับอนุญาตนั้น
  • คนต่างด้าวหรือคนต่างชาติไม่สามารถแสดงใบอนุญาตทำงานต่อเจ้าหน้าที่ได้ (เช่น ไม่พกใบอนุญาตติดตัว)

สรุป

การจ้างคนต่างด้าวหรือคนต่างชาติให้ทำงานสามารถทำได้ไม่ยาก โดยอาจมีข้อจำกัดและภาระหน้าที่เพิ่มเติมตามกฎหมายบางประการนอกเหนือจากหน้าที่ของนายจ้างตามปรกติของกฎหมายคุ้มครองแรงงาน โดยที่หากละเว้นหรือหลีกเลี่ยงไม่ดำเนินการจ้างคนต่างชาติให้ทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย นายจ้างและ/หรือลูกจ้างต่างด้าวนั้นอาจมีความผิดทางอาญาทั้งฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างคนต่างด้าวนั้นด้วย

ในกรณีที่นายจ้างทำ สัญญาจ้างแรงงาน กับคนต่างด้าวซึ่งยังไม่ชัดเจนว่าจะได้รับอนุญาตให้ทำงานในประเทศไทยหรือไม่ นายจ้างและลูกจ้างสามารถกำหนดให้ถือการได้รับอนุญาตให้ทำงานในประเทศไทยเป็นเงื่อนไขบังคับก่อนได้ของสัญญาได้ กล่าวคือสัญญาจ้างแรงงานจะมีผลบังคับใช้ก็ต่อเมื่อลูกจ้างได้รับใบอนุญาตให้ทำงานในประเทศไทยนั้นเอง


แบบฟอร์มและตัวอย่างต่าง ๆ ที่สามารถดาวน์โหลดได้ในรูปแบบ Word และ PDF

ให้คะแนนคู่มือฉบับนี้
4.5 - ดีมาก